นายธีระชัย ประสิทธิ์รัตนพร กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TMI เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 6.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.67 ล้านบาท หรือ 1,620% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 7.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.20 ล้านบาท หรือ 658.91% โดยมีรายได้จากการขายรวม 135.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.84 ล้านบาท หรือ 16.17%
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 122.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.85 ล้านบาท หรือ 15.96% จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น สินค้าประหยัดพลังงาน ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น
ส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 12.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.99 ล้านบาท หรือ 18.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าอยู่ที่ 10.96 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงรับรู้รายได้เฉพาะโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพ จังหวัดสมุทรสาคร และโรงไฟฟ้าชีวภาพ จังหวัดชุมพร ที่มีกำลังการผลิตรวม 2.4 เมกะวัตต์ ในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวภาพแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 นี้
สำหรับต้นทุนขายรวมของบริษัทฯ อยู่ที่ 89.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5 ล้านบาท หรือ 14.73% จากปัจจัยยอดขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นและราคาต้นทุนสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนขายไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ต้นทุนขายรวมเพิ่มขึ้น และมีต้นทุนในการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 17.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านบาท หรือ 0.93% เนื่องจากค่าคอมมิชชั่นที่สูงขึ้นตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น ด้านค่าใช้จ่ายในการบริหารฯ ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 17.28 ล้านบาท ลดลง 1.74 ล้านบาท หรือ 9.14% จากหนี้สงสัยจะสูญลดลง
“ในไตรมาส 2 ของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากการออกผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติและโปรโมชั่นที่โดนใจลูกค้า นอกเหนือจากรายได้ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแห่งที่ 3 ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 3 นี้ ซึ่งเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าเดิมและโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ทำให้โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 5.4 เมกะวัตต์ ส่งผลให้รายได้จากส่วนดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต ” นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า การดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ บริษัทฯ วางเป้าหมายขยายการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแห่งที่ 3 เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 นี้ โดยประเมินว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 8 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพดังกล่าวได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากลในรูปแบบ “ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste)” ซึ่งเป็นแนวทางในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทางและทำให้ขยะที่ต้องนำไปกำจัดให้ลดเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือจนเป็นศูนย์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงธุรกิจคาร์บอนเครดิตที่เป็นอีกหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้ นับได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพต้นแบบแห่งแรกของบริษัทฯ