นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “TGE” ในวันที่ 19 สิงหาคม 2565
TGE เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกะวัตต์ โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรกรรม ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 3 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์
TGE มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,100 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 1,600 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 600 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้มีอุปการคุณของบริษัท และกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานบริษัทและบริษัทย่อย ในระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2565 ในราคาหุ้นละ 2.00 บาท มูลค่าระดมทุนรวม 1,200 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,400 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
ดร. ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทให้มากกว่า 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2570 รวมทั้งเปิดโอกาสในการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตและผลกำไรอย่างยั่งยืน โดยเงินส่วนใหญ่จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 3 แห่งที่อยู่ระหว่างพัฒนา โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการภายในปี 2567
TGE จะมีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ ครอบครัววนสุวรรณกุล ถือหุ้น 72.7% และ TGE มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และภาระผูกพันตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ โดยพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท และขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ฐานะการเงิน สภาพคล่องทางการเงิน และความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อบริหารกิจการ และการขยายธุรกิจของบริษัท รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ