ก.ล.ต. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับกำกับดูแลตลาดทุน

Date:

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) โดยนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับเดิม เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้กรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ของแต่ละองค์กร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยการประสานความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของ 2 องค์กรในการกำกับดูแล เพื่อให้ตลาดทุนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นธรรม น่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศต่อไป

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงกรอบการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 องค์กรในงานด้านกำกับดูแลให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน รวมถึงสอดรับกับระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนในปัจจุบัน ตลอดจนสามารถรองรับกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ (1) การกำกับดูแลบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (2) การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (3) การติดตามดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนและการบังคับใช้กฎหมาย และ (4) การออกระเบียบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งจะเพิ่มการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลระหว่างกัน เพื่อให้การทำหน้าที่ของแต่ละองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมกันพิจารณาคำขอกรณีการจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) การขอย้ายกลับมาซื้อขายของบริษัทจดทะเบียนหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) เพื่อให้กระบวนการพิจารณามีมาตรฐานเทียบเท่าการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ และยังจะมีการร่วมกันกำหนดหรือปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยสนับสนุน ป้องปราม หรือยับยั้งพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น

อีกทั้งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงแนวทางการทำงานและการประสานงานร่วมกัน ทั้งในระดับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของทั้ง 2 องค์กร เพื่อให้การขับเคลื่อนทิศทางนโยบายการพัฒนาตลาดทุน การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันกับตลาดทุนอื่น และการกำกับดูแลตลาดทุนของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทั้ง 2 องค์กรยังมีการหารือในประเด็นที่จะขับเคลื่อนร่วมกันที่สำคัญ ดังนี้

(1) การสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาการลงทุนในรูปแบบใหม่ ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(2) การสนับสนุนการเพิ่มมูลค่า (value up) ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนมุ่งมั่นที่จะเสริมศักยภาพและมูลค่าของตัวเอง สื่อสารกับนักลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากที่รัฐบาลได้สนับสนุนการขยายรายชื่อหลักทรัพย์ที่กองทุน Thai ESG สามารถลงทุนได้

(3) การส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและขอความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินการ และการทำความเข้าใจกับบริษัทจดทะเบียน

(4) การส่งเสริมผู้ลงทุนให้มีความรู้ (investor empowerment) ผ่าน Open Data ของภาคตลาดทุนและภาคการเงิน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้