กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการเก้าเดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 23.32 พันล้านบาท เติบโต 21.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่แข็งแกร่ง และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการลงทุนภายในประเทศส่งผลให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจของกรุงศรีเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565 ประกอบไปด้วย สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เพิ่มขึ้น 6.0% และ 6.2% ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวที่ 1.6% สะท้อนกลยุทธ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและรอบคอบระมัดระวัง ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.9% กอปรกับการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเชิงรุก เป็นปัจจัยหลักส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3.44% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565:
• กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2565 จำนวน 23,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.3% หรือ 4,098 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
• หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 14.9% หรือจำนวน 4,087 ล้านบาท
• เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.9% หรือจำนวน 74,637 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ อันประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 6.0% และ 6.2% ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและอุปสงค์ภายในประเทศ
• เงินรับฝาก ลดลง 3.7% หรือจำนวน 65,438 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของเงินรับฝากประจำ สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเชิงรุกของธนาคาร
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.44% จาก 3.23% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการบริหารจัดการโครงสร้างและต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพของธนาคาร
• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติ ลดลงจำนวน 2.3% หรือ 574 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปี 2564 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 11,302 ล้านบาท หรือ 31.3%
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ จากการดำเนินงานตามปกติอยู่ที่ 43.4% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 43.0% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2564 หากไม่รวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อ
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.38% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 จากนโยบายการจัดชั้นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เชิงคุณภาพของธนาคาร ตอกย้ำนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง
• อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 175.0% เมื่อเทียบกับ 184.2% ณ สิ้นปี 2564
• อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.62% เทียบกับ 18.53% ณ สิ้นปี 2564
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้กรุงศรีสามารถส่งมอบผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยยังคงดำเนินนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงของกรุงศรีที่เข้มงวดระมัดระวัง”
“ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำกว่าคาด เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 3.1% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ยังสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในภาคธุรกิจและรายได้ครัวเรือน กรุงศรี
คาดว่าเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารจะเติบโตได้ตามขอบบนของกรอบเป้าหมายที่ 3-5% ของปีนี้”
ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.97 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.71 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.59 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ที่ 297.13 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.62% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.99%