นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลในระยะปานกลางอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และจากประมาณการภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 62.69 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดให้สัดส่วนดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละ 70
นอกจากนี้ ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าว ได้มีการประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางในช่วงปีงบประมาณ 2566 – 2569 จากการประเมินการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐในภาวะที่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการคาดการณ์ว่า ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.02 ในปีงบประมาณ 2566 เป็นร้อยละ 67.15 ในปีงบประมาณ 2569 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดให้สัดส่วนดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละ 70 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจแบบสะสม ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลปัจจุบันเพียงชุดเดียว และการเปรียบเทียบหนี้สาธารณะควรพิจารณาเทียบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เนื่องจากแต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2565 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 60.72 แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงมีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มเติมสำหรับรองรับมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกประมาณร้อยละ 10 ของ GDP (กรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐจะต้องไม่เกินร้อยละ 70) อีกทั้งความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลในระยะปานกลางอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้