บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง ประเมินว่า รัฐบาลสหรัฐฯออกมาตรการเข้าช่วยเหลือผู้ฝากเงิน “ทั้งหมด เต็มจำนวน”จากความวิตกของการปิด Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(FDIC) ได้เรียกประชุมผู้บริหารธนาคาร และมีการอนุมัติการตั้งเงินกองทุนพิเศษสำรอง Bank Term Funding Program เพื่อให้ผู้ฝากเงินกับธนาคาร SVB และ Signature Bank ที่ถูกปิดไป ให้สามารถเข้าถึงและถอนเงินของตนได้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ได้ทั้งหมด
ล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ, Federal Reserve และ Federal Deposit Insurance Corp. ร่วมกันแถลงถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร และเสริมสร้างสภาพคล่องให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
โดยทางด้าน Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวต้องการจะปกป้อง “ผู้ฝากเงินทั้งหมด” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณช่วยเหลือผู้ที่มีบัญชีเงินฝาก โดยผู้ฝากเงินของ SVB จะสามารถเข้าถึงเงินทั้งหมดของพวกเขาได้ ทั้งนี้ยังได้เสริมอีกว่า ผู้เสียภาษีจะต้องไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใดๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของ SVB รวมถึงธนาคารอื่นที่อาจเป็นเช่นเดียวกัน รัฐบาลระบุในแถลงการณ์
เกิดอะไรขึ้นกับ Silicon Valley Bank?
Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ที่วางตำแหน่งตัวเองเป็นธนาคารเพื่อบริษัทเทคโนโลยี Start-Up และ Venture Capital ออกมาประกาศกับนักลงทุนในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าธนาคารจำเป็นต้องขายพันธบัตรออกไปในราคาขาดทุนรวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และจำเป็นต้องขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง จึงทำให้หุ้นร่วงลงกว่า 60% ในทันทีพร้อมกับที่คนฝากเงินแห่กันถอนเงินออกจากความกังวลว่าธนาคารกำลังมีปัญหา อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เข้าควบคุมกิจการในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังธนาคารมีแนวโน้มเกิด Bank Run อย่างรุนแรง
ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
ปัญหาของ SVB เกิดจากการบริหารสภาพคล่องเป็นหลัก ในกรณีของธนาคารทั่วไปจะดำเนินธุรกิจด้วยการรับเงินฝากและปล่อยกู้ในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ให้ธุรกิจสินเชื่อประเภทต่างๆเช่น สินเชื่อบุลคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังมีเครื่องมือลงทุนอีกมากมายสำหรับเงินสดส่วนเกิน แต่ในส่วนของ SVB ยึดมั่นว่าตัวเองเป็นธนาคารเพื่อ Start-Up ทำให้มีฐานลูกค้าที่น้อยกว่า ในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ลูกค้า Start-Up ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการเพิ่มทุน ซึ่งทำให้ SVB ได้รับเงินฝากจากลูกค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องนำเงินฝากส่วนที่เหลือไปลงทุนซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก
ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2022 ที่ผ่านมา ราคาพันธบัตรระยะยาวที่ธนาคารถือปรับตัวลงอย่างรุนแรง ขณะที่ลูกค้าของ SVB ซึ่งเริ่มระดมทุนได้ยากขึ้นและทยอยถอนเงินไปพยุงกิจการ ทำให้ SVB ถูกบังคับขายพันธบัตรในราคาขาดทุนเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนผู้ฝากและรักษาสภาพคล่องไว้ ซึ่งแท้จริงแล้วหากถือพันธบัตรได้จนครบอายุ SVB ก็จะได้เงินคืนครบเต็มจำนวน อีกทั้งธนาคารยังไม่พบการผิดนัดชำระหนี้จากการปล่อยสินเชื่อของ SVB เองและถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีหนี้เสีย (NPLs) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ปัญหานี้จะลุกลามเหมือนช่วง Financial Crisis หรือไม่?
นักลงทุนในตลาดต่างตื่นตระหนกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจลุกลามไปเป็นเหมือนวิกฤต Lehman Brothers ในปี 2008 แต่หากพิจารณาการดำเนินธุรกิจแล้ว SVB ถือเป็นธนาคารที่ระมัดระวังการลงทุนค่อนข้างมาก โดยสินทรัพย์ที่นำเงินฝากไปลงทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตราสารหนี้ พันธบัตร และตราสารที่มีสินทรัพย์ค่ำประกัน (mortgage-backed securities) ซึ่งแตกต่างจาก Lehman Brothers ที่นำเงินไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อบ้านคุณภาพต่ำ (Subprime Mortgage) เกินตัว จนนำมาสู่การล้มละลายจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ไม่ดี ซึ่งล่าสุด จากการที่ทางการออกมาตรการเข้าช่วยเหลือทันที อาจเรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ได้ปิดประตูผลกระทบที่จะเป็น Domino Effect ไปแล้วทันที
มุมมองการลงทุน
เรามองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ผิดพลาดเฉพาะตัวของบริษัท และจะไม่นำไปสู่ Domino Effect เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2008 ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯที่พร้อมเข้าดูแลความเชื่อมั่นในทันที ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจสร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้นได้บ้างในระยะสั้นได้บ้าง แต่มองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว
รวมถึงรอดูท่าที่ของ Fed ว่าจะมีการดำเนินนโยบายอย่างไรในการประชุมวันที่ 22 มีนาคมนี้ ซึ่งล่าสุดทั้ง Bond Yield 2 ปี และ Terminal Rates ต่างปรับลดลงซึ่งสะท้อนการลดความ Hawkish ลงของ Fed ในช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจช่วยลดความตึงเครียดและความวิตกของนักลงทุนจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้