ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2566 โดยได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อทวีค่าเงินออมให้แก่สมาชิกทั้งหมด 5 ประเด็น สรุปสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่ ดังนี้
1.สมาชิก กบข. สามารถออมเพิ่มได้สูงสุด 27% ของเงินเดือน เมื่อรวมกับเงินสะสม 3% จะสามารถออมกับ กบข. ได้สูงสุดถึง 30% จากเดิม ที่ออมเพิ่มได้สูงสุดเพียง 12% เท่านั้น
2.เมื่อสมาชิกเลือกหรือเปลี่ยนแผนการลงทุน จะมีผลต่อเงินทุกประเภทในบัญชีรายบุคคล ประกอบด้วย เงินสะสม เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) เงินสมทบ เงินชดเชย และเงินประเดิม(ถ้ามี) จากเดิม เงินประเดิม (ถ้ามี) และเงินชดเชย จะถูกกำหนดให้ลงทุนในแผนหลัก สมาชิกจะไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนได้
3.สมาชิก กบข. ที่บรรจุใหม่ หากไม่ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุน กบข. จะกำหนดแผนการลงทุนเริ่มแรกเป็นแผนสมดุลตามอายุ จากเดิม สมาชิกบรรจุใหม่จะถูกกำหนดให้อยู่ในแผนหลัก ซึ่งใน 3 ประเด็นนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
4.สมาชิก กบข. สามารถโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาให้ กบข. บริหารได้
5.ผู้ออมต่อกับ กบข. สามารถเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ จากเดิม ถูกกำหนดให้ลงทุนในแผนเดิมก่อนออกจากราชการ ใน 2 ประเด็นนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อคณะกรรมการ กบข. ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดแล้ว
ดร.ศรีกัญญา กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ กบข. ดำเนินการภายใต้ความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มโอกาสทวีค่าเงินออมกับ กบข. จึงได้บรรจุการทำงานแก้ไขกฎหมายไว้ในแผนยุทธศาสตร์ กบข. พร้อมทั้งผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด และในระหว่างที่รอกฎหมายมีผลบังคับใช้นั้น กบข. ได้พัฒนาระบบหลังบ้านควบคู่กันไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้สมาชิกสามารถใช้บริการได้ทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้