นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในเดือนเมษายน 2566 ความต้องการใช้ธนบัตรของประชาชนอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ โดยได้เตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการไว้อย่างเพียงพอ พิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด 19 รวมถึงมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณการว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 25,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการในปี 2565 อยู่ที่ 67 % เนื่องจากในปีนี้ มีช่วงวันหยุดยาวตามประกาศของภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องกับวันหยุดสุดสัปดาห์ อีกทั้งยังมีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ด้านธนาคารกรุงไทยเตรียมสำรองเงินสด ทั้งการใช้บริการที่สาขาและเครื่อง ATM จำนวน 21,710 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,060 ล้านบาท และเขตภูมิภาค จำนวน 18,650 ล้านบาท โดยสำรองสำหรับสาขาและจุดบริการทั่วประเทศ จำนวน 2,330 ล้านบาท และสำรองสำหรับเครื่อง ATM จำนวน 19,380 ล้านบาท
ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมความพร้อมสำรองธนบัตรรองรับความต้องการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 37,500 ล้านบาท แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร 10,675 ล้านบาท และในเขตต่างจังหวัด 26,825 ล้านบาท โดยเป็นการสำรองเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม 31,000 ล้านบาท และสาขา 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสำรองเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 765 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มรวม 10,928 เครื่อง (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566)
ส่วนธนาคารกรุงเทพ สำรองเงินสดช่วงสงกรานต์ 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร และตู้บัวหลวงเอทีเอ็ม เกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ รองรับประชาชนจับจ่าย ท่องเที่ยว ฉลองความสุข สุดชื่นฉ่ำรับสงกรานต์ ปี 66
ด้านธนาคารกสิกรไทยเตรียมสำรองเงินสดสำหรับ รวมทั้งสิ้น 29,600 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,700 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 5,100 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 822 สาขา ทั่วประเทศ
สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,000 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,800 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 8,600 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 12,200 ล้านบาท