ครม.เศรษฐา เห็นชอบแผนกู้ชดเชยขาดดุลอีก 3 ล้านล้านบาท

Date:

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ตามที่คกก. นโยบายการเงินการคลังฯ เสนอ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณ รายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้การจัดทำงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนฯ ปีงบฯ 68-71 ครม. ได้มีมติเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังมีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน คกก. นโยบายการเงินการคลังฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 จึงได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน 

โดย แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ประกอบด้วย 3 ส่วน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ 

ในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.6 สำหรับในปี 2569 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และในปี 2570 และ 2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 – 2570 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3 และในปี 2571 – 2572 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 

2. สถานะและประมาณการการคลัง

2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ

2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ

2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 – 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.42 3.42 3.21 และ 3.01 ต่อ GDP ตามลำดับ

2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับร้อยละ 66.93 67.53 67.57 และ 67.05 ตามลำดับ

3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง 

ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยเหลือ 1.8%

ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยเหลือ 1.8% จับตาพิจารณางบประมาณปี 69 หากล่าช้า กระทบเศรษฐกิจได้

กบข. จัด Thailand Global Investment Workshop 2025

กบข. ร่วมกับ Institutional Investor จัด Thailand Global Investment Workshop 2025

ออมสิน “เปิดขั้นตอน! สมัคร ‘สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส’

ออมสิน "เปิดขั้นตอน! สมัคร ‘สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส’ พร้อมให้คุณเริ่มต้นสร้างเครดิตอย่างมั่นใจ กู้ได้เลยบนมือถือผ่าน MyMo

กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง จัดสัมมนา อัปเดตทิศทางเศรษฐกิจ 2568

กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง จัดสัมมนา Mid-Year Economics and Investment Outlook 2025:Thriving through Volatility อัปเดตทิศทางเศรษฐกิจ