สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกบทความ “มุมมองการยื่นและ เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย” ระบุว่า
การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งเกิดจากแรงงานไทยมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัดและเป็นช่องโหว่ให้คนบางกลุ่มเลือกไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนทั้งหมดที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบฯ แต่เป็นผลจากสาเหตุอื่น อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ สศช. จึงร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด ดำเนินการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป
โดยพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 35.7% ที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 50.5% ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ย 12,115 บาทต่อเดือน
อีกทั้ง มากกว่าครึ่งมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้ในระดับต่ำ โดยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และกว่าร้อยละ 65.6 ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี อีกทั้ง มากกว่าครึ่งไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น/มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ
สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้
คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสาร/หลักฐานเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษี คือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า
ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาจต้องดำเนินการ ดังนี้
1) การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย
2) การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษี โดยการประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ
3) การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น
4) การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว
และ 5) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุนและช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ ทั้งนี้ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษี ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาวสำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น