นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าตั้งแต่ 1 บาทแรก จะมีผลบังคับใช้ จากเดิมที่มีการยกเว้นให้สินค้าไม่เกิน 1,500 บาท ทางกรมศุลกากรได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของสินค้าที่นำเข้าตามด่านต่างๆ ของกรมศุลกากร บริษัทผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับผู้ซื้อสินค้า ซึ่งทางกรมศุลกากรเป็นผู้เก็บภาษีแทนให้กรมสรรพากรเท่านั้น
ขณะที่สินค้าที่ส่งผ่านไปรษณีย์ไทย ทางไปรษณีย์ จะมีการติดบาร์โค้ดการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้ผู้ที่สั่งสินค้าเป็นผู้จ่ายก่อนรับสินค้า ซึ่งปริมาณสินค้าในส่วนนี้มีสัดส่วนที่น้อย คาดว่าไม่มีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างไร
นายพันธ์ทอง กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอยู่ที่ปีละประมาณ 100 ล้านชิ้น มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ในปีต่อๆ ไป จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากรได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเก็บรายได้เพิ่ม แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในประเทศ ที่ปัจจุบันเสียเปรียบเพราะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
“รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ขายในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมศุลจึงออกประกาศให้ของนำเข้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามความประสงค์ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2567” นายพันธ์ทอง กล่าว
สำหรับระยะต่อไปทางกรมสรรพากร จะมีการแก้กฎหมายให้สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตรงจากแพลตฟอร์ม ที่ผู้ซื้อสั่งสินค้าโดยตรง ซึ่งมาตรการของกรมศุลกากรจึงเป็นมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการแก้กฎหมายของกรมสรรพากร