สรรพากร คาดเก็บภาษีเข้าเป้า 2.8 ล้านล้าน

Date:

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567 นี้ (ตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1.96 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณฯ 8,482 ล้านบาทหรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกัน ของปีก่อน 47,911 ล้านบาทหรือกว่า 2.5% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่เริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาตรการ “Easy E-Receipt” ที่ช่วยเหลือประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) ซึ่งเป็นมาตรการภาษีสำหรับประชาชนที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าดังกล่าวสามารถนำมาลดหย่อนภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2567 และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ที่เป็นแรงส่งให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภค ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 7.7%

นางสาวกุลยา กล่าวว่า การที่กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายไว้ เป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศเอาไว้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ เศรษฐกิจ ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ณ ขณะจัดทำประมาณการปี 2567 ซึ่งคาดว่า GDP จะขยายตัวกว่า 3.2% แต่ล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับลดแนวโน้ม GDP ปี 2567 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% จากตัวเลข GDP ครึ่งปีที่ขยายตัวต่ำที่เพียง 1.9% ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ที่พร้อมใจกันขับเคลื่อนกรมสรรพากรให้เป็นองค์กรที่นำเทคโนโลยีมายกระดับการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เสียภาษี ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังส่งจดหมายแจ้งเตือนผู้เสียภาษีให้เข้าสู่ระบบภาษีหรือให้ชำระภาษีตามกำหนดเวลา การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีในการตรวจสอบและ Pre-Fill ข้อมูลเงินได้

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านระบบ My Tax Account สำหรับผู้เสียภาษีที่ยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลทางภาษีได้สะดวกขึ้น ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษี ของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมายทั้งสิ้น

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรได้มีกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษี “SMILE RD” ซึ่งเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย

S : Simplification การทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อ

M : Modernization มีความทันสมัย

I : Inclusivity and Innovation มีความทั่วถึง และมีนวัตกรรมด้วย

L : Legality and Compliance ถูกต้องตามระเบียบและข้อกฎหมาย

E : Efficiency มีประสิทธิภาพ

R : Responsiveness ตอบสนองความต้องการทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี

D : Digitization ปรับองค์กรมุ่งสู่ Digital First

ขณะเดียวกัย กรมสรรพากรยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบาย “oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM” ตามที่ปลัดกระทรวงการคลังได้ริเริ่มไว้ ทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นปี พ.ศ.2568 กรมสรรพากร จะยกระดับบริการทางภาษีและแสดงข้อมูลทางภาษีให้ครบถ้วน โดยเปิดให้บริการ One Portal : My Tax เริ่มให้บริการกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต่อยอดการกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น ซึ่งได้เริ่มใช้ในปีที่ผ่านมากับแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ 

นอกจากนี้ ได้วางแผนการพัฒนา น้องอารีย์ Chatbot ด้วยการนำ ChatGPT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการตอบคำถาม ในมิติของการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรมสรรพากร ยังมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการใช้เทคโนโลยี AI กับการประมวลผลข้อมูลภายในของกรมสรรพากร ร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนจากภายนอก เช่น ข้อมูลบัญชีทางการเงินที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ข้อมูลบัญชีพิเศษจากอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศแบบอัตโนมัติเป็นต้น ในการประเมินและวิเคราะห์หาพฤติกรรมของผู้เสียภาษี ซึ่งจะช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ในการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีตามความเสี่ยงและสามารถเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในมิติต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบก่อนการคืนเงินภาษี หากเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มเสี่ยง ก็จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนคืนเงินภาษี

สำหรับการสร้างความเป็นธรรมและความทั่วถึงในการจัดเก็บภาษีอากร กรมสรรพากรยังคงให้ความสำคัญในการเสนอแนะและจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย Low-Value Goods รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมายและเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ตามหลักการ Pillar 2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษี ที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15%

Share post:

spot_img

Related articles

ชงครม. แปลงร่าง แจกเงินดิจทัล เป็นเงินสดหมื่นบาท

คลังชงครม. แปลงร่างแจกเงินดิจทัล เป็นเงินสดหมื่นบาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน

ธนาคารไทยเครดิต ชวนมนุษย์เงินเดือน “รวมหนี้ ลดภาระ” 

ธนาคารไทยเครดิต ชวนมนุษย์เงินเดือน “รวมหนี้ ลดภาระ” ด้วยสินเชื่อบุคคลไทยเครดิต พร้อมโปรโมชันดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ต่อปี นานสูงสุด 5 เดือน 

ซีไอเอ็มบี ไทย ถกเข้ม การค้าและเศรษฐกิจอาเซียน

ซีไอเอ็มบี ไทย – สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนมาเลเซีย ถกเข้ม มุมมองการค้าและเศรษฐกิจอาเซียน

SAM เปิดประมูล ยกทัพทรัพย์เด่นมูลค่ารวม 760 ล้านบาท

SAM เปิดประมูล ยกทัพทรัพย์เด่นมูลค่ารวม 760 ลบ. ไฮไลท์ ‘คอนโด’ ใกล้บีทีเอสอารีย์ ตอบโจทย์ผู้ที่มองหาบ้านและนักลงทุน เคาะราคา 27 ก.ย.และ 11 ต.ค.นี้

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427