แนะครัวเรือนบริหารเงินสดและหนี้สิน กันเงินตึงตัว

Date:

ttb analytics ประเมินว่า หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก 0.5% เป็น 0.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยที่เร่งตัวและคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นน้อยลงที่ต้องพึ่งพานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ ด้วยเหตุนี้ ภาคครัวเรือนจึงจำเป็นต้องแบกรับภาระทางการเงินมากขึ้น ทั้งจากค่าครองชีพสูงและอัตราดอกเบี้ยในประเทศขาขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยและกลุ่มที่มีภาระหนี้สินในระดับสูง จะรับรู้ผลกระทบได้ค่อนข้างชัดเจนกว่ากลุ่มอื่น

เมื่อประเมินผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าในปี 2565 จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 6.7% จาก 1.2% ในปี 2564 ต่อภาวะการเงินของครัวเรือนแต่ละกลุ่มพบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนที่ 25,000 – 50,000 บาท (คิดเป็นสัดส่วน 35% ของครัวเรือนทั้งหมด) จะมีรายจ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 72% ของรายได้ครัวเรือนทั้งหมดเมื่อเทียบกับ 68% ในปีก่อน หรือ เพิ่มขึ้นมา 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้ 15,000 – 25,000 บาทต่อเดือน (สัดส่วน 17% ของครัวเรือนไทยทั้งหมด) จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 84% ของรายได้ครัวเรือนทั้งหมดจาก 79% ในปีก่อน หรือราว 750 – 1,250 บาทต่อเดือน

นอกจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ครัวเรือนยังต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระผ่อนชำระสัญญาเงินกู้ที่อ้างอิงด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้านซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน การคิดดอกเบี้ยมักคำนวณสูตรอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกหนี้รายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ระหว่างธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 5.95% – 7.35% และมีทิศทางทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยอดภาระผ่อนส่งต่องวดของสินเชื่อบ้านมักกำหนดไว้ตายตัวตลอดสัญญาอยู่แล้ว จึงอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบของดอกเบี้ยที่แพงขึ้นชัดเจนมากนัก แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำลังทยอยปรับขึ้นนี้ จะส่งผลให้ยอดของเงินต้นในแต่ละงวดที่ผ่อนชำระลดลง ซึ่งทำให้มียอดหนี้คงค้างในงวดสุดท้ายเหลือในอนาคตมากขึ้นแทน ซึ่งอาจส่งผลให้จำเป็นต้องขอยืดระยะเวลาสัญญากู้ยืมให้นานออกไป

สมมติกรณีมีสัญญาจำนองบ้านกับธนาคาร 2 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญาเงินกู้ 20 ปี ชำระค่างวดเป็นรายเดือน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาอยู่ที่ 5% จะมีภาระผ่อนส่งค่างวดเดือนละ 13,200 บาท แต่ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6% และ 7% ตามลำดับจะทำให้ภาระผ่อนชำระค่างวดเมื่อเทียบกับกรณีดอกเบี้ย 5% ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1,100 บาท และ 2,300 บาท มาอยู่ที่ 14,300 บาทต่อเดือน และ 15,500 บาทต่อเดือนตามลำดับ ซึ่งหากคิดเป็นเงินต้นก็จะทำให้หนี้บ้านลดลงช้ากว่าเดิมราว 13,200 และ 27,600 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ครัวเรือนผู้กู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะปรับสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่ 1. กลุ่มที่เพิ่งเริ่มกู้ยืมเงินแบบจำนองบ้านในช่วงขาดอกเบี้ยต่ำ 2-3 ปีที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มที่กำลังจะขอกู้ยืมสินเชื่อบ้านใหม่ เนื่องจากสองกลุ่มนี้มักมียอดหนี้คงค้างในสัญญาสูงและยังต้องรับภาระดอกเบี้ยมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะขอสินเชื่อใหม่ ที่อาจประสบกับเกณฑ์ในการพิจารณาให้สินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคาร อาทิ การพิจารณาด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ของผู้ขอกู้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) นอกจากนี้ ยังมีครัวเรือนกลุ่มเปราะบางต่ออัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่วนมาก คือ กลุ่มที่มีสัญญาเงินกู้ระยะเวลายาวนานและมีมูลค่าผ่อนส่งต่องวดน้อย ที่อาจถูกปรับเพิ่มค่างวดได้

สำหรับกลุ่มที่มีภาระผ่อนชำระสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราดอกเบี้ยแพง อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล (P-loan) และบัตรเครดิต ซึ่งแม้อัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ได้อิงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หากบริหารจัดการไม่เหมาะสม ยิ่งทำให้เพิ่มแรงกดดันต่อกระแสเงินสดและภาวะการเงินครัวเรือนในช่วงยุคดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ได้

ล่าสุด สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก เห็นพ้องกันในการปรับจังหวะและขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป หลัง กนง. เริ่มปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น อีกทั้ง ยังพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะมีต่อลูกค้า และเพื่อช่วยประดับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยโดยรวมให้ฟื้นตัวต่อไปได้อย่างไม่สะดุด

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้เองก็จำเป็นต้องมีแนวทางบริหารจัดการเงินสดและหนี้ครัวเรือนของตนเองอย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ดังนั้น จึงควรเร่งสำรวจภาระหนี้สินและประเมินผลกระทบด้านภาระดอกเบี้ยที่จะต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมบริหารเงินสดครัวเรือนและหาแนวทางบริหารจัดการหนี้ให้ลดลงได้อย่างต่อเนื่องเหมาะสม และเพื่อป้องกันปัญหาภาวะการเงินครัวเรือนตึงตัวที่อาจเกิดขึ้นได้

สำหรับทางเลือกในการบริหารหนี้ครัวเรือนมีหลายวิธีที่น่าสนใจที่อาจนำมาพิจารณา ดังนี้

1.การรวมหนี้ (Debt Consolidation) เหมาะสำหรับผู้ที่ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยพร้อมกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น การรวมหนี้โดยใช้บ้านเป็นหลักประกันจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดลงได้

2.การขอรีไฟแนนซ์ (Refinance) กับผู้ให้กู้ยืมที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง เหมาะกับผู้มีภาระสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาระยะหนึ่งแล้ว

3.สำหรับผู้ขอกู้ใหม่อาจตัดสินใจเลือกสัญญากู้บ้านที่ให้ระยะเวลากู้นาน และเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ระยะหนึ่งก่อนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด (Floating Rate) ในอนาคต หรือ สินเชื่อ Hybrid

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่พิจารณาแล้วเห็นว่า อาจจะรับมือกับภาระดอกเบี้ยและภาระรายจ่ายที่สูงขึ้นไม่ไหว อาจเข้าขอรับคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับธนาคาร ซึ่งจะมีเครื่องมือและแนวทางเตรียมไว้สำหรับให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าอยู่แล้ว เพื่อให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ด้วยกัน

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อดีตรมว.คลัง คาดสหรัฐฯ ไม่ลดภาษี 36% ให้ไทย

อดีตรมว.คลัง คาดสหรัฐฯ ไม่ลดภาษี 36% ให้ไทยมีความเป็นไปได้สูง เพราะสหรัฐฯ ถือไพ่เหนือกว่าไทยมาก

“ทักษิณ” เข้าบ้านพิษณุโลก ถกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย

“ทักษิณ” เข้าบ้านพิษณุโลก ถกทีมไทยแลนด์รับมือภาษีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำ

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำและยอมรับในระดับโลก

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้จะพลิกให้ธปท.ให้เป็นแบงก์ชาติเพื่อประเทศ เหมือนกับทำออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม