กนง. เสียงเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.25%

Date:

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลง ผลการประชุม กนง. ในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้าโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น 

กนง. คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกสินค้า หมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องจักรที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการ แย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง มองไปข้างหน้า แนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการลงทุนของไทยในระยะต่อไป 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% และ 1.1% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย 

สินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง อาทิ สินเชื่อของภาคท่องเที่ยวและบริการขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้และรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อของธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น หดตัวตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อและนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลของมาตรการ“คุณสู้ เราช่วย” ของภาครัฐที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน ตามการปรับคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มผันผวนจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น จึงจะติดตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้