ธปท. จับมือ ปปง. ปิดช่องฟอกเงินซื้ออาวุธก่อการร้าย

Date:

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงที่ภาคธนาคารจะทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรในระดับนานาชาติ อันรวมถึงการคว่ำบาตรเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

ในปีที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยบางแห่งถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงตามแถลงการณ์ของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force : FATF) สำนักงาน ปปง. จึงประกาศให้ประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มาจากพื้นที่หรือประเทศดังกล่าวในระดับเข้มข้นทันที และได้ออกแนวทางซักซ้อมความเข้าใจ เช่น ให้สถาบันการเงินใช้มาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า (Ultimate Beneficial Owner : UBO) โดยใช้เอกสาร ข้อมูล หรือข่าวสารจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือนอกเหนือจากการขอข้อมูลจากลูกค้า และกำหนดให้สถาบันการเงินขอทราบวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมจากลูกค้า เพื่อพิจารณาว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้าหรือไม่ เป็นต้น 

ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ร่วมกันตรวจสอบและติดตามการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า สถาบันการเงินในไทยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CTPF) ที่สำนักงาน ปปง. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏตาม Thailand list และ UN sanction list อีกทั้งพบว่า สถาบันการเงินหลายแห่งมีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เข้มงวดกว่าที่กฎเกณฑ์ของสำนักงาน ปปง. กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้นทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นช่องทางสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบกับกรณีที่มีรายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ว่าสถาบันการเงินในไทยบางแห่งให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาในปี 2566 ซึ่งถูกนำไปใช้ทำร้ายประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมานั้น สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยสั่งการให้สถาบันการเงินทุกแห่งทบทวนการทำธุรกรรมและเพิ่มความระมัดระวังในทันที โดยได้ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว รวมถึงตรวจสอบนโยบายและการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินในด้านการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินตัวแทน (Correspondent Bank) การเปิดบัญชี และการทำธุรกรรมรับและโอนเงินกับลูกค้า ซึ่งพบว่ามีสถาบันการเงินบางแห่งทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏในรายงานของ OHCHR จริง แต่ไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงว่าเป็นธุรกรรมเพื่อการจัดซื้ออาวุธ และการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ปปง. และ ธปท. กำหนด  อย่างไรก็ดี พบว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการปฏิบัติงานที่เข้มงวดแตกต่างกัน จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องยกระดับการปฏิบัติที่สำคัญด้าน AML/CTPF เพื่อให้สถาบันการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งผ่านเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แฝงมาในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทันมากขึ้น

ในการนี้ สำนักงาน ปปง. และ ธปท. จึงขอเน้นย้ำว่า ภาคการเงินไทยไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินที่สนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงการทำสงคราม ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการและมีแผนงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ดังนี้

1. เร่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินในไทยให้เท่าทันกับสถานการณ์และมาตรฐานสากลที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง ได้แก่ (1) การเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบ UBO เพื่อให้สามารถติดตามและป้องกันการใช้โครงสร้างธุรกิจที่ซับซ้อนในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยการตรวจสอบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องเข้มข้นกว่าลูกค้าทั่วไปอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับเกณฑ์ของ FATF เช่น การกำหนดนิยาม UBO ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 25 เป็นต้น (2) การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในระดับเข้มข้น (Enhanced Customer Due Diligence : EDD) โดยต้องมีหลักฐานว่ามีการหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมที่ชัดเจน เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับลูกค้า และมีกลไกจับสัญญาณเตือนภัยจากการทำธุรกรรมที่ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (3) กำหนดเกณฑ์การเรียกเอกสารหลักฐานประกอบการทำธุรกรรมโอนเงินหรือรับโอนเงินเพิ่มเติมในกรณีลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เพื่อให้ทราบวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของลูกค้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินถูกใช้เป็นช่องทางสนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

2. สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ได้ออกนโยบายร่วม เรื่อง การดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควํ่าบาตร เพื่อเน้นย้ำและผลักดันให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญและยกระดับการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร โดยต้องมีวิธีการและระบบประเมิน ติดตาม ตรวจจับความเสี่ยง และแจ้งเตือนหากพบความผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควํ่าบาตร รวมทั้งกำหนดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (Risk Proportionality) และพิจารณาดำเนินการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเหมาะสม อันจะส่งเสริมให้ระบบการเงินไทยมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยสถาบันการเงินจะต้องถือปฏิบัติตามนโยบายร่วมดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป 

3. กำหนดให้สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารในกลุ่มสมาชิก จัดทำมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน (Industry Standard) ในประเด็นที่สำนักงาน ปปง. และ ธปท. เล็งเห็นว่าต้องยกระดับการปฏิบัติงานข้างต้น รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาระบบและเครื่องมือการตรวจสอบ DUI และรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตอาวุธที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ (Common High Priority List : CHPL) อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะนำออกใช้ภายในเดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป  ซึ่งการกำหนดวิธีปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดการเลือกทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานแตกต่างกันได้ 

ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. และ ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ยกระดับดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งหวังว่าสถาบันการเงินจะระมัดระวังในการทำธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน และหากพบว่าสถาบันการเงินกระทำผิดหรือละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด สำนักงาน ปปง. และ ธปท. จะดำเนินการอย่างเข้มงวดตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เปิดศึกซักฟอกรัฐบาล หลัง วาเลนไทน์

“ธนกร” มอง เวลาเหมาะสมฝ่ายค้านเปิดศึกซักฟอกรัฐบาลหลัง วาเลนไทน์ แนะ ข้อมูลต้องแน่น อย่าน้ำท่วมทุ่ง

ดัชนีราคาส่งออก นำเข้าของไทย เดือนพ.ย. 2567 ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนพ.ย. 2567 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันทางการค้า

“พิชัย” ชูทิศทางกระทรวงพาณิชย์ปี 68 

“พิชัย” ชูทิศทางกระทรวงพาณิชย์ปี 68 เดินหน้านโยบายรัฐบาล ให้เศรษฐกิจการค้าไทยเข้มแข็ง เป็นธรรม โตอย่างยั่งยืน

ดีเดย์ ธอส. เปิดให้ลงทะเบียน “โครงการคุณสู้ เราช่วย”

ธอส. เปิดให้ลงทะเบียน “โครงการคุณสู้ เราช่วย” วันที่ 6 มกราคม 2568 เป็นวันแรก ผ่าน Application : GHB ALL GEN หรือ Application : GHB ALL Bfriend