ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟสบุ๊ก “Somchai Jitsuchon” ระบุ
ภาษีในห้องมืด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปภาษีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มรายได้จากภาษี ตามที่ทุกคนทราบดี
ในที่ประชุม มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อมูลเพียงว่ามีการจัดตั้งคณะทำงานภายในเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่กลับไม่สามารถเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ได้เลย แม้ว่าผู้สอบถามจะเป็นกรรมาธิการซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่ควรมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลด้านการคลังของประเทศ
ลักษณะการทำงานแบบปิดเป็นความลับเช่นนี้ ซึ่งฝ่ายบริหารเลือกที่จะศึกษาเรื่องภาษีในลักษณะ “ห้องมืด” โดยไม่เปิดเผยรายละเอียด หรือแม้กระทั่งแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีที่กำลังพิจารณา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในประเทศไทย แม้จะพอเข้าใจได้ว่าฝ่ายบริหารอาจกังวลเรื่องความตื่นตระหนกของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นภาษี จึงพยายามปิดข้อมูลไว้จนใกล้จะถึงเวลาประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ผมเห็นว่าการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ถูกต้อง
ในหลายประเทศ กระบวนการจัดทำนโยบายด้านภาษีมีความโปร่งใสมากกว่า มีการเปิดเผยข้อมูลและระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในฝ่ายบริหารเท่านั้น ที่สำคัญ สภาผู้แทนราษฎรควรมีบทบาทในการร่วมกำหนดทิศทางตั้งแต่ต้น ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา หลายนโยบายทางภาษีเริ่มต้นจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แตกต่างจากรูปแบบการทำงานแบบปิดลับของไทย
สำหรับผม อย่างน้อยที่สุด คณะทำงานควรชี้แจงหลักการใหญ่ ๆ เบื้องต้นให้ชัดเจน เช่น การตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มรายได้ภาษีจากระดับ 14-15% ของ GDP ไปสู่ระดับใดภายในระยะเวลาเท่าใด เช่น อาจกำหนดเป้าหมายที่ 18-20% ของ GDP ภายใน 10 ปี นอกจากนี้ ควรระบุแนวทางที่ชัดเจนว่าจะปฏิรูปภาษีในด้านใดบ้าง เช่น การขยายฐานภาษี การเพิ่มประเภทภาษี โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน รวมถึงการปรับอัตราภาษีที่มีอยู่เดิม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเป็น 10% ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเมื่อใด หรือหากจำเป็นต้องเพิ่มเกินกว่า 10% ควรชี้แจงแนวทางและกรอบเวลาให้ชัดเจน
ผมขอเรียกร้องให้ยุติธรรมเนียมปฏิบัติที่กระบวนการการปฏิรูปภาษีเกิดขึ้นแบบปิดลับใน “ห้องมืด” และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้อย่างโปร่งใส
ปล. ถ้าทำกระบวนการอย่างโปร่งใสและเป็นระบบก็สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์อย่างที่ รมต. คลังออกมาโยนหินถามทางเรื่อง 15-15-15 ซึ่งกลับได้ผลไปอีกทางคือคนไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้และรีบคัดค้านอย่างรวดเร็ว กลายเป็นการโยนหินใส่เท้าตัวเองไปเสีย