นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เป็นผู้บรรยายพิเศษ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก การเพิ่มขึ้นของนโยบายปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ และโอกาสใหม่สำหรับประเทศไทยในโลกยุคเปลี่ยนผ่าน ในงานสัมมนา KKP Year Ahead 2025: Opportunities Unbound ที่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าชั้นนำของ KKP
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า แนวโน้มโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง จากการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงเพียงการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ แต่เป็นการสั่นคลอนโครงสร้างระเบียบโลกแบบที่ทุกคนรู้จัก เพราะทรัมป์ ได้แสดงความต้องการถอนตัวหรือการลดบทบาทองค์กรหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น NATO, WHO และ COP ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นผู้สนับสนุนสำคัญมาโดยตลอด “การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงจะไม่ใช่แค่ Presidential Change แต่เป็น Paradigm Shift และเป็นความไม่แน่นอนระดับโลก”
ในส่วนของจีน นายศุภวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงภาวะ “อ่อนใน-แข็งนอก” จากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปราะบาง เห็นได้จากปัญหาสินค้าคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ เงินหยวนที่อ่อนค่า ทำให้กำลังซื้อในประเทศตกต่ำจนกระทั่งเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ในเวทีโลก จีนยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการครองตลาดโลกในสินค้าอุตสาหกรรมก้าวหน้า เช่น แผงโซล่าเซลล์และ รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ยุโรปซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้น ประเทศหลักมีการเติบโตต่ำกว่า 1% และมีความไม่แน่นอนและความเปราะบางทางด้านการเมืองและความมั่นคง ดังนั้นความมั่นใจในด้านเศรษฐกิจคงจะไม่สามารถพลิกฟื้นได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า
นายศุภวุฒิ กล่าว่า โอกาสเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความผันผวน ในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยจีนและสหรัฐฯ เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงและยุโรปอ่อนแอ ดร.ศุภวุฒิมองว่า ประเทศไทยมีทางเลือกใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเกษตร อาหาร และบริการ
“จีน แม้จะมีประชากรมากถึง 20% ของโลก แต่มีพื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ของโลก และมีทรัพยากรน้ำเท่ากับ 6% ของโลก ดังนั้น จีนจึงจะต้องเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรรายใหญ่ของโลกไปอีกนาน และนี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะใช้ความได้เปรียบในด้านการเกษตรและอาหารในการ ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ”
นอกจากนี้ จีนก็ยังนำเข้าสุทธิการบริการ มีความต้องการในด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา “เพราะไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีแนวคิดที่จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย ส่วนภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะหายไป แต่จะยังคงมีอุตสาหกรรมเฉพาะเจาะจง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ในส่วนของ assembly, testing and packaging แต่อาจจะไม่ใช่หัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (economic engine) ของประเทศไทยในบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป”