
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ในกรอบเป้าหมายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 คาดกนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.0% ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.32% YoY เพิ่มขึ้นจาก 1.23% ในเดือนธันวาคม โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งสูงขึ้นจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนมกราคมอยู่ที่ 0.83% เพิ่มขึ้นจาก 0.79% ในเดือนธันวาคม
วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปีอาจยังอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันดีเซลที่ต่ำในช่วงไตรมาสแรกของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปัจจุบันที่กำหนดเพดานที่ 33 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงต้นปีอาจหนุนให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับมุมมองดอกเบี้ยนโยบาย แม้อัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแต่คาดว่าเฉลี่ยทั้งปี 2568 จะยังอยู่ในระดับต่ำใกล้ขอบล่างของกรอบที่ 1% ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลงแม้จะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการรัฐ สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงซบเซาในไตรมาส 4 ปี 2567 (-0.1% QoQ) แม้มีมาตรการเงินโอน 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนกว่า 14 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกทั้งความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯกับจีน และยังมีความไม่แน่นอนจากของนโยบายทรัมป์ 2.0 วิจัยกรุงศรีจึงประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันที่ 2.25% สู่ 2.00% ในปีนี้
วิจัยกรุงศรีประเมินกรณีจีนตอบโต้กลับสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเพิ่ม 10% อาจมีผลบวกสุทธิต่อไทยเล็กน้อย หลังจากที่มาตรการภาษีของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์
การประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันของสหรัฐฯกับจีนล่าสุด โดยใช้แบบจำลองการวิเคราะห์การค้าโลก (Global Trade Analysis Project: GTAP) พบว่าปริมาณการส่งออกและ GDP ของไทย จะเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +0.27% และ +0.02% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงบวกสุทธิต่อไทยอาจมีเพียงเล็กน้อยและจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมบางกลุ่มเท่านั้น อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะได้รับผลเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้นได้อีกในระยะถัดๆ ไป รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญต่อทิศทางและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้