ไอแบงก์ ปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อสูงสุด 0.30%

Date:

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ ปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อสูงสุด 0.30% โดยประกาศปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อทุกประเภทลง 0.10% โดย SPR ลดลงเหลือ 7.90% ต่อปี SPRL ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี และ SPRR ลดลงเหลือ 8.15% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2568 ถึง 31 สิงหาคม 2568 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงพี่น้องมุสลิมที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามหลักการศาสนา พร้อมทั้งเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางที่มีรายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ตามเงื่อนไขของธนาคาร โดยลดอัตรากำไรให้อีก 0.20% รวมเป็น 0.30% ต่อปี ซึ่งการปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อทั้งหมดในครั้งนี้ ครอบคลุมระยะเวลา 6 เดือน และธนาคารยังคงอัตราผลตอบแทนเงินฝากเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ออมเงิน ให้มีทางเลือกในการหาแหล่งฝากเงินที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี นั้น ไอแบงก์ ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ จึงพร้อมปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อทุกประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งการลดอัตรากำไรสินเชื่อในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยไอแบงก์ได้ปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อทุกประเภทลง 0.10% ต่อปี ประกอบด้วย อัตรากำไรสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (SPR) จาก 8.00% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.90% ต่อปี อัตรากำไรสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลา (SPRL) จาก 7.90% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี และอัตรากำไรสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR) จาก 8.25% ต่อปี ลดลงเหลือ 8.15% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2568 ถึง 31 สิงหาคม 2568

การปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฮาลาล ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญสำหรับพี่น้องมุสลิมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม และการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนตามหลักศาสนาจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

นอกจากนี้ ไอแบงก์ได้เสนอมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางสานต่อจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการลดอัตรากำไรสินเชื่อลงอีก 0.20% รวมกับที่ลดให้ 0.1% ดังกล่าว รวมเป็น 0.3% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีรายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ตามเงื่อนไขของธนาคาร โดยผู้ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ถึง 30 มิถุนายน 2568 ซึ่งมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ และสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถฟื้นฟูฐานะการเงินและชำระหนี้ได้ตามหลักการศาสนา โดยลดภาระกำไรที่ต้องชำระลง ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถจัดการกับปัญหาหนี้สินได้ดีขึ้นและมีโอกาสในการฟื้นฟูกิจการหรือฐานะการเงินในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ไอแบงก์ยังคงอัตราผลตอบแทนเงินฝากเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ออมเงิน หน่วยงาน องค์กร นิติบุคคล สถาบัน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ให้มีทางเลือกในการหาแหล่งฝากเงินที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ โดยไอแบงก์มุ่งมั่นในการสนับสนุนการออมและการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินให้กับประชาชนและพี่น้องมุสลิมโดยรวม

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับกลุ่มเปราะบางผ่านโครงการสินเชื่ออัตรากำไรต่ำ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อบรรเทาภาระหนี้ และโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการฮาลาล เพื่อให้พี่น้องมุสลิมและประชาชนทั่วไปสามารถดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตตามหลักการศาสนาได้อย่างมั่นคง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ibank Contact Center 1302 หรือ แชตทาง Messenger : Islamic Bank of Thailand – ibank (@ibank.th) และ LINE : ibank 4 All (@ibank)

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้