รองโฆษกรัฐบาลย้ำเตือน อย่าหลงเชื่อกลลวงมิจฉาชีพ แบงค์ชาติรวมข้ออ้างหลอกโอน ดูเลย!
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนประชาชนระวังถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ หรือให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในรูปแบบต่าง ๆ ถึงแม้ทุกภาคส่วนจะพยายามแจ้งเตือนให้ประชาชนให้รับทราบกลโกงของมิจฉาชีพมาอย่างต่อเนื่อง แต่มิจฉาชีพได้เปลี่ยนรูปแบบกลโกงรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่าหลงเชื่อเวลาพูดคุยทางโทรศัพท์กับคนที่ไม่รู้จัก หรือการแอบอ้างต่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมข้ออ้างที่มิจฉาชีพมักใช้จะหลอกเหยื่อ ดังนี้
1.บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต : มิจฉาชีพจะขออายัดบัญชีเงินฝากของเหยื่อ อ้างว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต หลอกให้เหยื่อตกใจ รีบโอนเงินมาให้
2.บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติด หรือการฟอกเงิน : มิจฉาชีพ จะอ้างว่าบัญชีเงินฝากของเหยื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย หลอกให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่เตรียมไว้ โดยอ้างว่าจะทำการตรวจสอบ
3.เงินคืนภาษี : มิจฉาชีพจะอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งเหยื่อว่าได้รับเงินคืนภาษี โดยให้ยืนยันรายการตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งแท้จริงแล้วกลับเป็นขั้นตอนที่มิจฉาชีพหลอกให้เหยื่อโอนเงิน
4.โชคดีได้รับเงินรางวัล : มิจฉาชีพจะอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทต่างๆ แจ้งเหยื่อว่าได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง หลอกให้เหยื่อโอนเงินค่าภาษีมาให้ก่อนรับรางวัล
5.ข้อมูลส่วนตัวหาย : มิจฉาชีพจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน อ้างว่าทำข้อมูลของเหยื่อสูญหาย เพื่อขอข้อมูลของเหยื่อใหม่ หลังจากนั้นจะนำไปปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินแทน
6.โอนเงินผิด : มิจฉาชีพจะติดต่อไปยังสถาบันการเงินของเหยื่อ เพื่อขอสินเชื่อแทนเหยื่อ เมื่อสถาบันการเงินอนุมัติและโอนเงินเข้าบัญชีให้เหยื่อแล้ว มิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ อ้างว่าโอนเงินผิดบัญชี หลอกให้เหยื่อโอนเงินดังกล่าวคืนให้
“หากถูกหลอกขอให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับการโอนเงิน พร้อมแจ้งความกับตำรวจ และลงบันทึกประจำวัน แจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ตลอด 24 ชม.” นางสาวรัชดาฯ กล่าว