R&I คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ A-

Date:

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้และผู้ออกตราสารหนี้ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) แม้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานจากกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตในด้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการบริโภคเริ่มฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

2) รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Debt to GDP ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 61 อย่างไรก็ดี R&I เชื่อมั่นว่า รัฐบาลยังคงรักษาเสถียรภาพทางการคลังและใส่ใจต่อภาระหนี้สาธารณะ (Debt Burden) ภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากมีการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และสามารถระดมทุนได้ครบถ้วนตามความต้องการ

3) สำหรับภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) R&I คาดว่า แม้ปี 2565 ประเทศไทยจะยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลง ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของราคาน้ำมัน การขาดแคลนของเซมิคอนดักเตอร์ และการล็อคดาวน์ระลอกใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ในปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลดลงของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ภาคการเงินต่างประเทศยังมีความเข้มแข็ง เนื่องจากมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงและสภาพคล่องต่างประเทศมีความเข้มแข็ง

4) ประเด็นที่ R&I ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรวัยทำงาน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำ

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำและยอมรับในระดับโลก

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้จะพลิกให้ธปท.ให้เป็นแบงก์ชาติเพื่อประเทศ เหมือนกับทำออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม

วรวงศ์ รามางกูร โต้กลับ ธาริษา ตั้งธงตีกัน ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่

รวงศ์ รามางกูร โต้กลับ ธาริษา ตั้งธงตีกันว่าที่ผู้ว่า แบงก์ชาติคนใหม่ กล่าวหา ไม่ยุติธรรม “ใกล้ชิดรัฐบาล = เสื่อมความเชื่อมั่น?”

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอกเอง “ย่านบรรทัดทอง” ฟองสบู่แตก

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอกเอง “ย่านบรรทัดทอง” ฟองสบู่แตกอย่างรวดเร็ว ผู้มีส่วนได้เสียหวังแต่รายได้เยอะจนไม่ยั่งยืน