นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “จากการที่กองทุนได้เปิดระบบการกู้ยืมในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินงบประมาณให้กู้ยืมจำนวน 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาจำนวนกว่า 600,000 ราย ผลปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาได้ยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมเงิน จำนวน 590,796 ราย เป็นเงินที่ขอกู้ยืมแล้วกว่า 27,881 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2565) โดยนักเรียน นักศึกษาสามารถยื่นกู้ยืมและทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect”
และสามารถทำสัญญาเงินกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกด้วย
และจากกรณีที่มีข่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาได้เปรียบเทียบสัดส่วนการให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษา ผ่านโครงการเงินกู้ในเอเชีย โดยพบว่า กยศ. ของประเทศไทย ให้เงินอุดหนุนด้านการศึกษาแฝง หรือเงินอุดหนุนทางอ้อมมากกว่าหลายประเทศในเอเชีย กองทุนขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์เมื่อหลายปีก่อน ทั้งนี้ การอุดหนุนงบประมาณเป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นของผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในแต่ละปี ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรเงินแก่กองทุนตั้งแต่ปี 2539 – 2560 โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยให้นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยกองทุนได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและอัตราการชำระเงินคืนยังไม่เพียงพอ จนในปี 2560 เป็นปีสุดท้ายที่กองทุน ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน เพราะมีเงินหมุนเวียนเพียงพอในการให้กู้ยืมจากรุ่นพี่ส่งต่อให้รุ่นน้อง กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด