
ศูนย์วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า เศรษฐกิจชะลอลงในเดือนมีนาคมจากการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว หลายสถาบันทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงใกล้ระดับ 2% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับลดลงในทุกหมวด (-0.5% MoM sa) โดยเฉพาะในหมวดบริการที่ลดลงจากกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ลดลง ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงต่อเนื่อง (-1.0% MoM sa) โดยปรับลดลงในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดยานพาหนะเป็นสำคัญ ขณที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัว สำหรับการส่งออกหากหักทองคำและขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน (-0.2% mom sa)
แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเดือนมีนาคมชะลอลงจากเดือนก่อน แต่โดยภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2568 เศรษฐกิจยังมีการฟื้นตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน จากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากขึ้น สะท้อนจากการปรับลดคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งธปท.และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งล่าสุดได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือ 2% และ 2.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ Moody’s สถาบันจัดอันดับความเชื่อถือได้ปรับลดแนวโน้ม (Outlook) ของไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงลบ (Negative) เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าหลังวิกฤตโควิดและมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ขณะเดียวกันสถานะทางการคลังอ่อนแอลงจากระดับหนี้สาธารณะที่เร่งตัวขึ้น อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงที่ภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ
กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.75% และมีสัญญาณอาจผ่อนคลายต่อเนื่องซึ่งขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 เมษายน มีมติ 5 ต่อ 2 ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าจากประเทศเศรษฐกิจแกนหลัก ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยคาดว่า GDP ไทยในปี 2568 จะขยายตัว 2% กรณีการเจรจาการค้ามีความยืดเยื้อและสหรัฐฯ คงภาษีไว้ที่ 10% แต่กรณีที่รุนแรงขึ้นหากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯอยู่ในอัตราที่สูงอาจส่งผลให้ GDP เติบโตเพียง 1.3%
ภายใต้บริบทที่ความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยทวีแรงขึ้น กนง. ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2568 ลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 2.9% เหลือ 2.0% (Reference scenario) พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% จึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 1.75% ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็น pre-emptive move ในการรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง
กนง. ยังส่งสัญญาณเชิงผ่อนคลายอย่างชัดเจนหรือเปิดโอกาสสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “นโยบายการค้าโลกของประเทศเศรษฐกิจหลักในอนาคตยังคาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไป” นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ธปท. ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้เกี่ยวกับวัฏจักรขาลงของดอกเบี้ย โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและความไม่แน่นอนที่อาจยืดเยื้อไปถึงปีหน้า
ทั้งนี้ ด้วยจุดยืนเชิงผ่อนคลายของ กนง. ข้างต้นและการสื่อสารในการแถลงข่าวของธปท. ดังกล่าว วิจัยกรุงศรีประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน เนื่องจากความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้าจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งเป็นช่วงที่ กนง. ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและ terminal rate จึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการและการความคืบหน้าของการเจรจาการค้าเป็นสำคัญ