อธิบดีกรมสรรพากร มุ่งขับเคลื่อนความโปร่งใสทางภาษีในเอเชีย

Date:

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Asia Initiative ภายใต้ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes ครั้งที่ 10 ณ เกาะมาเลเหนือ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2568 เพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษีและการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลในทวีปเอเชีย ซึ่งในที่ประชุมได้มีการเผยแพร่รายงาน Tax Transparency in Asia 2025 : Asia Initiative Progress Report ซึ่งสะท้อนความก้าวหน้าของประเทศสมาชิก 17 ประเทศ รวมถึงไทยในการดำเนินการตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความโปร่งใสทางภาษี โดยเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำร้องขอ (Exchange of Information on Request : EOIR) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information : AEOI) อันส่งผลให้ประเทศไทยได้รับข้อมูลจากต่างประเทศจำนวนมาก และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษี

รายงานนี้ระบุว่า กรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสในภาคการเงินเกิดใหม่ ดังนั้น นอกจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินตาม Common Reporting Standards (CRS) กรมสรรพากรจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการตาม  Crypto – Asset Reporting Framework (CARF) ภายในปี 2571 นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ด้วยการเข้าร่วมความพยายามระดับโลกที่จะปิดช่องว่างของความโปร่งใส ประเทศไทยมุ่งทำให้การบริหารการจัดเก็บภาษีมีเครื่องมือจัดการความท้าทายใหม่ ๆ และสนับสนุนบูรณภาพของระบบภาษี”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการดำเนินงานปี 2568 – 2569 ซึ่งจะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิก การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี และการใช้ข้อมูลที่ได้รับในการบริหารการจัดเก็บภาษี ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการเสวนาเรื่อง “The Use of CRS Data” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้ข้อมูลตาม CRS โดยเฉพาะ  การวิเคราะห์ความเสี่ยง การใช้เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูล และการสนับสนุนหน่วยงานตรวจสอบภาษี ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้นำเสนอการพัฒนาระบบจับคู่ข้อมูล (Data Matching) ระหว่างข้อมูลที่ได้รับจากต่างประเทศกับข้อมูลในฐานข้อมูล ซึ่งจากผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าสามารถจับคู่ข้อมูลได้กว่า ร้อยละ 54 และสำหรับข้อมูลจากประเทศที่มีคุณภาพของข้อมูลสูงสามารถจับคู่ได้ถึงร้อยละ 80 อันแสดงศักยภาพของข้อมูลที่ได้รับและความพร้อมในการนำข้อมูลไปใช้ยกระดับการจัดเก็บภาษี และการตรวจสอบภาษีเชิงลึกต่อไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“จตุพร” ควง “สุชาติ–ฉันทวิชญ์” มอบ 10 ภารกิจเร่งด่วนพาณิชย์

“จตุพร” ควง “สุชาติ–ฉันทวิชญ์” มอบ 10 ภารกิจเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ฟื้นความเชื่อมั่น

เกาะสมุยไม่แผ่ว! C9 Hotelworks เผยแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 

เกาะสมุยไม่แผ่ว! C9 Hotelworks เผยแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ท่องเที่ยวไทยผันผวน

กลุ่มทิสโก้ ครึ่งปี 2568 กำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท

กลุ่มทิสโก้ ครึ่งปี 2568 กำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% พิษเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

เมืองไทยประกันชีวิต บริจาคโลหิตเนื่องในวันประกันชีวิตแห่งชาติ

เมืองไทยประกันชีวิต ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันชีวิต จัดกิจกรรมบริจาคโลหิตเนื่องในวันประกันชีวิตแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ตอกย้ำพันธกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม