ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า โลกการค้ายุค Next Normal สร้างโอกาสให้บุคคลธรรมดาเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทั้งการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ และการรับจ้างผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมในห่วงโซ่การส่งออก (Supply Chain) ให้กับผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดย่อมไปจนถึงขนาดกลางและขนาดใหญ่ จากสถิติพบว่าใน 3 ปีแรกของ SMEs ที่ส่งออกส่วนใหญ่จะเริ่มต้นอยู่ในห่วงโซ่ Supply Chain เริ่มทำธุรกิจจนคุ้นชินจึงเริ่มสร้างแบรนด์ของตนเอง เมื่อผันตัวจากผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์อื่น (Original Equipment Manufacturer : OEM) เป็นผู้ผลิตสินค้าในนามแบรนด์ของตัวเอง (Original Brand Manufacturer : OBM) ทำให้มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่องมากขึ้น “สินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา” จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ EXIM BANK พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยปลดล็อกให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ใน Supply Chain การส่งออกของไทยมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการเติบโตของภาคการส่งออกไทยปี 2565
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อยในขณะนี้คือ การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนหรือขาดสภาพคล่องในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจยังไม่ได้เริ่มต้นหรือเพิ่งเริ่มต้น จึงเต็มไปด้วยปัจจัยลบที่เป็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อง่ายนัก ขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นขาขึ้น EXIM BANK จึงได้ “สานพลัง” ความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ค้ำประกันสินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้กู้สินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดาในสัดส่วน 100% โดยสามารถใช้บุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันร่วมด้วยได้ ผู้กู้ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ส่งออก หรือผู้ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 7.75% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี เริ่มต้นบวก 2% สูงสุดไม่เกินบวก 6%) สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2566
ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย” ที่ EXIM BANK ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกไทยมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคส่งออก และการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ทั้งนี้ SMEs ไทยในปัจจุบันยังมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพียง 34% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ส่วนใหญ่มีสัดส่วน 50% ขึ้นไป EXIM BANK จึงเดินหน้าสานพลังความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตของ SMEs ในระดับฐานรากให้พร้อมเข้าสู่ Supply Chain การส่งออกของไทย ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกได้ในที่สุด อาทิ การสร้าง EXIM Thailand Pavilion ให้เป็นทางเลือก E-Commerce ของ SMEs ไทยที่สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 1 ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ และการจัดให้มี SMEs Export Studio พัฒนาดีไซน์บรรจุภัณฑ์สินค้าส่งออกของ SMEs ไทย เป็นต้น
นอกจากสินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดาแล้ว EXIM BANK ยังมีสินเชื่อสำหรับนิติบุคคลยื่นขอกู้ได้อีกคือ สินเชื่อผู้ส่งออกป้ายแดง สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการส่งออกและนำเข้า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ Start-up และกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มต้นส่งออก โดยเน้นกลุ่มลูกค้าสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินกู้สูงสุดสำหรับลูกค้าใหม่ 2 ล้านบาท และลูกค้าปัจจุบัน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี และสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan สินเชื่อเพื่อปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร หรือซอฟต์แวร์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าส่งออกซึ่งขยายระยะเวลาให้กู้ถึง 30 มิถุนายน 2566 วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2% ต่อปี ผ่อนชำระนาน 7 ปี
“EXIM BANK ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจ ควบคู่กับสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชนและธุรกิจตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งในตลาดโลกจำนวนมากขึ้น อันจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน รับกับเทรนด์การค้าของโลกยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและโอกาสของผู้ที่เข้าถึงได้ด้วย ‘ความกล้า’ และ ‘ความพร้อม’ เพื่อความเป็นอยู่ของชุมชน สังคม และโลกที่ดีขึ้นในระยะยาว” ดร.รักษ์ กล่าว