
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวจากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า แต่ช่วงครึ่งหลังของปีและต่อเนื่องถึงปีหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
จากการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัว
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายด้าน สะท้อนมุมมองความยากลำบากจากทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจ ณ มิถุนายน 2568 โต 2.3% และปี 2569 โต 1.7%
นายปิติ กล่าวว่า เงินเฟ้อต่ำมีที่มาจากหมวดราคาพลังงานและอาหารสด ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าอื่นลดลงตามเป็นวงกว้าง สะท้อนจากราคาสินค้าที่ประชาชนบริโภคเป็นประจำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน อยู่ในภาวะการเงินยังตึงตัว คุณภาพสินเชื่อยังปรับด้อยลง สินเชื่อหดตัวส่วนหนึ่งมาจากการชำระคืนหนี้และความต้องการสินเชื่อที่ลดลง โดยสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อไม่ปรับดีขึ้น
สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนและแข็งค่าเทียบไตรมาสก่อนจากปัจจัยภายนอก สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ความสำคัญของจังหวะเวลาและประสิทธิผลของนโยบายการเงินภายใต้บริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ประสิทธิผลที่ลดทอนภายใต้บริบทที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและเศรษฐกิจที่เผชิญความไม่แน่นอนสูง
นอกจากนี้ ความท้าทายส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความสามารถในการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป