ออมสิน เผยผลสำเร็จ 5 ปี ช่วยคนไทย 13 ล้านชีวิตได้ไปต่อ

Date:

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความสำเร็จการนำองค์กร และผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ในรอบระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ได้ริเริ่มปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ พลิกบทบาทธนาคารมาเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” โดยการทำธุรกิจธนาคารปกติเพื่อนำกำไรเชิงพาณิชย์ มาใช้สนับสนุนการทำภารกิจเชิงสังคม และขับเคลื่อนภารกิจหลัก 4 ด้านของธนาคาร ได้แก่ 1) การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน 2) การแก้ไขปัญหาหนี้สิน 3) บทบาทงานพัฒนาสังคมและชุมชน และ 4) การสนับสนุนนโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันถือเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐตามกฎหมาย โดยผลงานที่ผ่านมา ธนาคารได้สร้าง Social Impact เกิดผลกระทบเชิงบวก สามารถช่วยเหลือคนไทยจำนวนกว่า 13 ล้านคน จากจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 18.8 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท โดยหลังจากนี้ธนาคารตั้งเป้าสร้าง Social Impact ให้ได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านรายต่อปี และแม้ว่าธนาคารจะปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์เป็นธนาคารเพื่อสังคม ช่วยคนฐานรากได้มากขึ้น แต่สถานะทางการเงินยังเติบโตแข็งแกร่ง ไม่เกิดความเสียหายแก่องค์กร โดยธนาคารออมสินยังสามารถนำส่งเงินกำไรให้เป็นงบประมาณกับรัฐบาล ได้มากกว่า 96,000 ล้านบาท ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินให้รัฐสูงสุดหนึ่งในสามลำดับแรก

สำหรับภารกิจที่สร้าง Impact โดดเด่น คือ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) โดยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเงินและสร้างนวัตกรรมการเงินเพื่อสังคม ช่วยคนไทยกลุ่มฐานรากให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบแล้ว เป็นจำนวนกว่า 7.5 ล้านราย หรือ 10.4 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่มีผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 340,000  ราย วงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท การริเริ่มโครงการสินเชื่อสร้างเครดิตสร้างโอกาส เพื่อกลุ่ม Unserved/Underserved และการเปิดบริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายโอกาสการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มฐานรากได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำภารกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันสมบูรณ์ในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดนี้ ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มฐานรากได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดจำนำทะเบียนลดลงเหลือ 16-18% โดยมาตรการดังที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของภารกิจสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา 

ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ธนาคารสามารถช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียประวัติทางการเงิน จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.4 ล้านราย เป็นจำนวน 8.5 ล้านบัญชี ผ่านโครงการแก้หนี้เชิงรุก อาทิ การปลดหนี้ลูกหนี้รายย่อยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด รวมแล้วกว่า 1.3 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวมกว่า 11,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรการ Re-finance เพื่อสังคม และการชะลอการดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกหนี้สถานะ NPLs ผ่านมาตรการ 4 ไม่ การพักหนี้ ลด/ไม่คิดดอกเบี้ย การขับเคลื่อนมาตรการคุณสู้ เราช่วย ได้มากถึง 190,000 ราย หรือ 300,000 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 33 ของผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนทั้งระบบ ตลอดจนการตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ Ari-AMC เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพ ทั้งหมดนี้เพื่อฟื้นเสถียรภาพทางการเงิน และคืนความสามารถในการดำรงชีวิตให้ประชาชน โดยประคับประคองไม่ให้ลูกหนี้เสียวินัยการเงินด้วย 

ภารกิจสำคัญอีกด้านที่ประสบความสำเร็จชัดเจน คือ ด้านการพัฒนายกระดับศักยภาพชุมชนและสังคม ที่มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วกว่า 1.07 ล้านราย ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based Development) โครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน รวมถึงเดินหน้าภารกิจส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงินและการออม ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการออมต่อเนื่องและการออมระยะยาวสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย และการใช้เครื่องมือให้ความรู้ใหม่ ๆ เช่น แอปพลิเคชันโค้ชออม เป็นต้น

ความสำเร็จอีกด้านที่สำคัญ คือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของธนาคารออมสิน เพื่อเป้าหมายความสำเร็จในการขยายผลสร้าง Social Impact ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยธนาคารได้ริเริ่มการบริหารจัดการรูปแบบกลุ่มธุรกิจ จัดตั้ง 4 บริษัทย่อยทำธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ 1) บริษัท เงินดีดี จำกัด ขยายผลการเข้าถึงสินเชื่อของรายย่อย/กลุ่มฐานราก 2) บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ขยายการเข้าถึงสินเชื่อ SMEs 3) บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด เพื่อแก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และ 4) บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อยกระดับศักยภาพ Digital & AI สนับสนุนภารกิจธนาคารออมสิน 

ปัจจุบัน ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจกลุ่ม 6 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง รับผิดชอบขับเคลื่อนทุกบทบาทภารกิจของธนาคารเพื่อสังคมทั้ง 4 บทบาท โดยที่ผลการดำเนินงานด้านการเงินของธนาคารมีความมั่นคงแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝากเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูง ที่ระดับ 18.83 และมีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั่วไป (General Provision) ที่เติบโตจาก 4 พันล้านบาท ในปี 2562 สูงขึ้นเป็น 7.3 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน โดยเงินสำรองรวมสูงแตะระดับ 1.3 แสนล้านบาท สะท้อนความมั่นคงแข็งแกร่งของธนาคาร ขณะที่ยังคงสามารถนำส่งกำไรกลับเป็นรายได้เข้าแผ่นดิน (เงินนำส่งคลัง) ได้สูงเป็นลำดับที่ 3 หรือกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2567

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

อดีตรมว.คลัง คาดสหรัฐฯ ไม่ลดภาษี 36% ให้ไทย

อดีตรมว.คลัง คาดสหรัฐฯ ไม่ลดภาษี 36% ให้ไทยมีความเป็นไปได้สูง เพราะสหรัฐฯ ถือไพ่เหนือกว่าไทยมาก

“ทักษิณ” เข้าบ้านพิษณุโลก ถกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย

“ทักษิณ” เข้าบ้านพิษณุโลก ถกทีมไทยแลนด์รับมือภาษีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำ

อดีตนายกฯ เศรษฐา บอก Soft Power ไม่ใช่ทุกอย่างจะถูกจดจำและยอมรับในระดับโลก

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง

“วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้จะพลิกให้ธปท.ให้เป็นแบงก์ชาติเพื่อประเทศ เหมือนกับทำออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม