ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะถึงนี้ (28 ก.ย.) คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.00% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กนง. มีแนวโน้มที่จะทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางและยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
กนง. เผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.80 บาท/ ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี โดยจากผลการประชุม FOMC ของเฟด ในสัปดาห์ก่อนหน้า เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่าและกดดันค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่เงินเฟ้อไทยยังคงเร่งตัวสูงขึ้นแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงมาได้บ้าง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและในวงกว้างขึ้น ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้า ดังนั้น กนง. จึงเผชิญแรงกดดันอย่างมากให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก
อย่างไรก็ดี กนง. คงจะยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและยังคงเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หากในการประชุมที่จะถึงนี้ กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาด คงมีแรงกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลง แต่ก็เป็นการอ่อนค่าสอดคล้องกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งมีที่มาจากปัญหาเรื้อรังของเศรษฐกิจภายใน
นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยแม้ว่าเงินทุนสำรองของไทยจะปรับลดลงถึง 14.0% นับตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 2.38 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย. 2565)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ากนง. คงไม่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปีนี้จากเดิมเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี จุดสนใจคงอยู่ที่การปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปีหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงแรงกว่าที่เคยคาด