20 ปี สบน. : สู้ เสริม สร้าง เพื่อประเทศไทย

Date:

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงผลการดำเนินงานสำคัญของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในโอกาส สบน. ครบรอบ 20 ปี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ดังนี้
สู้วิกฤติ

สบน. ก่อตั้งขึ้นในสภาวการณ์อันสืบเนื่องจากวิกฤติการเงินเอเชีย พ.ศ. 2540 (วิกฤติต้มยำกุ้ง) นับตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน สบน. ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ดูแลและตัดสินใจเกี่ยวกับการเงินของประเทศ (Chief Financial Officer: CFO) เดินทางผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศมาถึง 4 ครั้ง ได้แก่ วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ และล่าสุด คือ วิกฤติการระบาดของ COVID-19

วิกฤติล่าสุด VS ความต้องการกู้เงิน

การระบาดของCOVID-19 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลกประกาศมาตรการล็อคดาวน์ (Lock Down) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจไทยหดตัวและถดถอยอย่างรุนแรง

สบน. มีบทบาทสำคัญในการระดมทุนจำนวนมากในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤติการระบาดของ COVID-19 เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาสู่สภาวะปกติ จึงทำให้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการกู้เงิน (Funding Need) รวมของรัฐบาล ได้แก่ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการกู้เงินตามปกติเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกู้เงินผ่านพระราชกำหนด COVID-19 อีกจำนวน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย จึงเห็นได้ว่าตัวเลขความต้องการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมากกว่าในสถานการณ์ปกติถึง 2 เท่า ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลไทยแล้ว รัฐบาลของประเทศอื่น ๆ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ก็ได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อต่อสู้กับวิกฤติดังกล่าวโดยใช้เงินกู้เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญเช่นกัน

ระดมทุนได้อย่างครบถ้วน

จากเหตุการณ์และความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวข้างต้น สบน. จึงต้อง วางแผนการบริหารหนี้สาธารณะอย่างรัดกุมและรอบคอบด้วยการจัดทำกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium Term Debt Management Strategy: MTDS) เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมทั้งกระจายการกู้เงิน ด้วยเครื่องมือหลากหลายเพื่อให้รัฐบาลสามารถระดมทุนได้ครบตามความต้องการ ควบคู่กับการดูแลปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond Supply) ให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้การกู้เงินที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน และสร้างความผันผวนในตลาดการเงินและส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งจะเป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ ในเวลาเดียวกัน สบน. ได้ติดตามสภาวะตลาดการเงินและสื่อสารกับผู้ร่วมตลาดอย่างเป็นประจำ ผ่านการประชุม Market Dialogue เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนและนำมาปรับแผนการระดมทุนของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดอย่างสม่ำเสมอ และประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สบน. สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการระดมทุนได้ครบตามแผนความต้องการใช้เงินของรัฐบาล และดูแลให้ตลาดสามารถรองรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว สบน. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและรองรับการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤติอันเกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 คณะกรรมการ นโยบายการเงินการคลังของรัฐพิจารณาสถานการณ์ความจำเป็นแล้ว ได้เห็นชอบการขยายกรอบเพดานจากเดิมร้อยละ 60 ซึ่งเป็นกรอบที่กำหนดขึ้นในช่วงภาวะปกติ เป็นร้อยละ 70 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดอย่างเหมาะสม เพื่อให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่สามารถรองรับกรณีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อดำเนินนโยบายการคลังและแผนพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ สบน. ได้ปรับกลยุทธ์การระดมทุนโดยเน้นการใช้เครื่องมือการระดมทุนที่หลากหลาย (Diversification) เพิ่มเติมจากการออกพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นเครื่องมือหลัก ไปยังเครื่องมือระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในสัดส่วนที่ยังคงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและด้านการปรับโครงสร้างหนี้ได้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนในตลาดที่ต้องการสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลลดลงจากร้อยละ 3.28 ในปีงบประมาณ 2562 เป็นร้อยละ 2.34 ในเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิง สภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับ ธปท. และภาคเอกชน สบน. ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ทางการต่างประเทศที่เป็นเงินกู้พิเศษเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในสัดส่วนที่ยังคงสามารถบริหารจัดการ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ รวมทั้งศึกษาเครื่องมือใหม่เพื่อรองรับความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงขึ้นและปัจจัยที่ไม่คาดคิดในอนาคต อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (1 – 3 ปี) เพื่อเพิ่มเครื่องมือการกู้เงินระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่

โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สบน. ได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 ทั้งสองฉบับแล้วทั้งสิ้น 1.48 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายแล้วกว่า 1.38 ล้านล้านบาท

เสริมเศรษฐกิจ สนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 10.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.7 ต่อ GDP และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ โดยหนี้สาธารณะคงค้างเกือบร้อยละ 70 เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเช่นเดียวกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนำไปใช้ในการวางรากฐานการพัฒนาและเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจาย ความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ สำหรับหนี้สาธารณะคงค้างส่วนที่เหลือเกือบร้อยละ 30 ประกอบด้วย หนี้จากการตรากฎหมายพิเศษเมื่อประเทศ เกิดวิกฤติ หนี้รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ

สบน. เป็นแหล่งเงินที่สำคัญในการสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสาขาต่าง ๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว อาทิ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งโครงการที่ช่วยเหลือสังคมอื่น ๆ เช่น โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค (Kosen) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในสาขาต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะทยอยเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น โดยมีวงเงินกู้เพื่อการลงทุน (ไม่รวมเงินกู้ COVID-19) ช่วงปี 2563 -2565 เฉลี่ยปีละประมาณ 881,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ปี 2562) ที่มีวงเงินกู้เพื่อการลงทุนประมาณ 652,000 ล้านบาท

ประเทศไทยได้อะไรจากเงินกู้ COVID-19

สำหรับประเมินผลการใช้จ่ายเงินโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท รอบที่ 1 (วงเงินประมาณ 805,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.95 ของกรอบวงเงินกู้) โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินผลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พบว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก (A) สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.65 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุดถึง 513,000 ล้านบาท โดยแต่ละแผนงานมี ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

1) แผนงานด้านสาธารณสุข พบว่า สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อ COVID-19 ประมาณ 27,000 ล้านบาท อาทิ อาสาสมัครชุมชน ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยติดเชื้อ ตลอดจนสามารถสนับสนุนวัคซีน อุปกรณ์ ครุภัณฑ์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูง แก่ประชาชนและสถานพยาบาลทั่วประเทศ

2) แผนงานด้านการช่วยเหลือและเยียวยา พบว่า สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐประมาณ 405,000 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ อาทิ ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราชนะ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับการเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 และเกษตรกร

3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พบว่า สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประมาณ 556,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุด ประมาณ 107,000 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากมาย อาทิ ร้านค้า ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ โครงการภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้ดีขึ้น และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดย ACI Worldwide และ CEBR ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการวิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระดับสากลได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก เรื่อง E-Payment Transaction

สนับสนุนการลงทุนและนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

สบน. จะสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 5 ปี (2566 – 2570) สบน. มีแผนการกู้เงินเพื่อการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ สาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมกว่า 898,000 ล้านบาท โดยการใช้กลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลางและเครื่องมือการกู้เงินหลากหลาย (Diversified Instrument) เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศว่าการบริหารหนี้สาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง อีกทั้งได้พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ร่วมกับ ธปท. เพื่อใช้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และเพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมของกระบวนการทำงานและรองรับการเปลี่ยนผ่านในการใช้อัตราดอกเบี้ย THOR ในอนาคต
ในระยะต่อไป สบน. จะยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะผลักดันให้มีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเข้ามามีบทบาทในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ยกระดับให้ประชาชนไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการออก Green Bond, Social Bond, Sustainability Bond หรือ ESG Bond ในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป

สำหรับกลยุทธ์การพัฒนา Sustainability Bond ของกระทรวงการคลัง สบน. จะดำเนินการเพิ่มยอดคงค้างให้กับ Sustainability Bond อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสภาพคล่องในตลาดรองที่เพียงพอและสามารถรองรับความต้องการระดมทุนของรัฐบาลได้ พร้อมทั้งจะวางแผนปรับปรุงกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Kingdom of Thailand Sustainable Financing Framework: KOT Framework) เพื่อให้ครอบคลุมหมวดหมู่โครงการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals : UNSDGs) และสามารถรองรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้หลากหลายมิติยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันประเทศไทยให้บรรลุ UNSDGs ทั้ง 17 ด้าน ในการมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการ

อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศยังอยู่ในระดับน่าลงทุน

สบน. ยังให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงเวลา และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง จึงทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล (Credit Rating Agency) อาทิ Moody’s S&P และ Fitch เชื่อมั่นและกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยมีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีความสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะ ที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability) และคงอันดับ ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับ BBB+/Baa1 ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ท่ามกลางวิกฤติ ขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

“นภินทร” เพิ่มศักยภาพกาแฟไทย

“นภินทร” เพิ่มศักยภาพกาแฟไทยขึ้นทะเบียน “กาแฟระนอง - กาแฟดอยมูเซอตาก” GI น้องใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมยกระดับกาแฟไทยสู่ตลาดสากล

“พิชัย” ถก ”ทูตสหรัฐ“ ดันการต่ออายุโครงการ GSP

“พิชัย” ถก ”ทูตสหรัฐ“ ดันการต่ออายุโครงการ GSP ชวนลงทุน Data Center และ Cloud Service เพิ่มมูลค่าการค้า ชูไทยพร้อมเป็น Food Security Hub 

ผลักดันไม้ยืนต้นสู่หลักประกันทางธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลักดันไม้ยืนต้นสู่หลักประกันทางธุรกิจ ติวเข้มเกษตรกร จ.ราชบุรี แปลงไม้ยืนต้นเป็นเงินทุน

”พิชัย“ ปลื้ม คลีนิกแพทย์จีนหัวเฉียว-ม.หัวเฉียวฯ

”พิชัย“ ปลื้ม คลีนิกแพทย์จีนหัวเฉียว-ม.หัวเฉียวฯ จับมือ 5 สถาบันแพทย์จีนชั้นนำ เปิดนวัตกรรม AI ตรวจโรค สานสัมพันธ์การแพทย์-การค้า-ลงทุน ไทย-จีน