คปภ. ระดมสมองภาคธุรกิจประกันภัยถอดบทเรียนโควิด

Date:

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ. ได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คลัง เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2565 (CEO Insurance Forum 2022) ภายใต้แนวคิด “Rebuilding Insurance Resilience to Overcome the VUCA World” ซึ่งเป็นการจัดประชุมในรูปแบบผสมผสาน (หรือ Hybrid Conference) เพื่อเป็นเวทีสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย

นายอาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทของธุรกิจประกันภัยต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ภายในปีนี้ประเทศไทยจะพ้นวิกฤตโควิด และจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไป ภาคประกันภัยจำเป็นต้อง ทบทวนบทเรียนต่าง ๆ เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้า โดยที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยมีส่วนช่วยดูแลพี่น้องประชาชนผ่านมาตรการต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่มีปัญหาบ้าง ก็ต้องนำมาทบทวนความเสี่ยง และต้องบริหารความเสี่ยงทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ

ซึ่งระบบประกันภัยมีผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ธุรกิจประกันภัย (Business) ประชาชนผู้บริโภค (Consumer) และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) รวมถึงพนักงานบริษัท ตัวแทนประกันภัย/นายหน้าประกันภัย ซึ่งทั้ง 4 ส่วน มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยให้กับประชาชน

นอกจากนี้ต้องเร่งปรับตัวในเรื่อง Digitalisation ซึ่งระบบดิจิทัลจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิด รวมถึงการให้บริการภาครัฐตามโครงการต่าง ๆ ก็จะใช้ Mobile Appication มากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัย

รมวคลัง กล่าวว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปแล้ว ธุรกิจประกันภัยจะเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมไปสู่การลงทุนที่สำคัญจึงต้องเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง คือ เรื่องที่

1 ความมั่นคงของระบบประกันภัยที่ต้อง

2 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทุกมิติหรือทุกภาคส่วน

3 การส่งเสริมระบบประกันภัยให้เกิดความยั่งยืน Sustainable Insurance

จากนั้น ดร.สุทธิพล กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การเสริมสร้างเกราะประกันภัย ภายใต้บริบทโลกใหม่” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2565 (CEO Insurance Forum 2022) ภายใต้แนวคิด “Rebuilding Insurance Resilience to Overcome the VUCA World” เป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นเริ่มต้นใหม่ หลังจากที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องฝ่าฟันกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับความท้าทาย เพื่อที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยปัจจัยสำคัญที่จะนำพาให้มีการเติบโตโดยสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้บริบท VUCA ได้ คือ การเปลี่ยนจากการตั้งรับ (Response) ต่อสถานการณ์และบรรเทาผลกระทบไปสู่ (Resiliency) การสร้างสมดุลและความยืดหยุ่นให้กับระบบประกันภัย รวมถึงการฟื้นฟูและกู้คืนความเชื่อมั่น (Recovery) ได้อย่างทันกาล

ดังนั้น ทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 โดยมีโจทย์ใหญ่ที่สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและเติบโตอย่างยั่งยืนใน 7 มาตรการ คือ

มาตรการที่ 1 การเสริมเกราะป้องกัน หรือ Resilience ให้กับภาคธุรกิจ

มาตรการที่ 2 เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เน้นในเรื่อง Principle-Based มากขึ้น

มาตรการที่ 3 การถอดบทเรียนจากประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ

มาตรการที่ 4 เร่งขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บท ด้านการประกันภัย

มาตรการที่ 5 ชูบทบาทของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ให้มีบทบาททั้งเสริมสร้างความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันภัย และส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย

มาตรการที่ 6 กระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยมีการประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

มาตรการที่ 7 ผลักดันให้ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในแต่ละภูมิภาค และเสริมสร้างความเชื่อมั่นจากสาธารณชน

ที่ประชุมทั้ง 3 กลุ่ม มีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้

1.ภาคธุรกิจประกันภัยต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เอาประกันภัย

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นควรใช้ประโยชน์จากโครงการ Insurance Regulatory Sandbox และโครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox ให้มากขึ้น

3.นักคณิตศาสตร์ประกันภัยควรจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโล่ (Fellow) ซึ่งต้องพิจารณารับรองผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะยื่นขอรับความเห็นชอบมายังนายทะเบียน

4.เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่บริษัทประกันภัยควรมี คือ การยืนยันตัวตนของผู้เอาประกันภัย (Know Your Customer : KYC) ในการสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นระบบ KYC กลาง หรือใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย

5.การรับประกันภัย การจัดการทางบัญชีและการเงิน และการจัดการค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยควรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน

6.สำนักงาน คปภ. ควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การปรับปรุง Free Look Period ของผลิตภัณฑ์การให้ความคุ้มครองการแพ้วัคซีน

7.การปรับปรุงระบบการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย

8.การจัดทำฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้ในการติดตามกำกับดูแล การกระทำความผิดของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย การใช้ฐานข้อมูลสำหรับการประสานความร่วมมือทางคดี

9.การพัฒนาระบบการประสานงานข้อร้องเรียนด้านการประกันภัยโดยการส่งข้อร้องเรียนให้บริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียนผ่านระบบอีเมล์ของแต่ละบริษัทเพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน แบบ Real Time

10.บริษัทประกันภัยควรมีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

11.แนวทางเกี่ยวกับกระบวนการเข้าทำสัญญา การใช้หรือการตีความข้อสัญญา และการยกเลิกสัญญาให้เป็นธรรม และไม่กระทบต่อผู้เอาประกันภัย การตีความสัญญาประกันภัยต้องเป็นไปตามกฎหมายประกันภัย หรือต้องปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยหากสัญญาข้อใดที่ไม่เป็นธรรมให้มีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

“การประชุม CEO Insurance Forum 2022 ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เหตุการณ์ที่ผ่านมาผมเห็นว่าเปล่าประโยชน์ที่จะไปโทษว่าใครผิด ใครถูก หรือโยนความผิดพลาดให้ใครรับผิดชอบ แต่ควรจะหันมาร่วมมือกันเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้และถอดบทเรียนเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ระบบประกันภัยของไทยมีความแข็งแกร่งเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ออมสิน เอาในสายออม เงิยฝากสั้นดอกเบี้ยสูง

ออมสินเอาใจสายออม ออกเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือนและ 8 เดือน ดอกเบี้ยรับเต็มไม่เสียภาษี ฝากเลยที่ธนาคารออมสิน

ภท.งดออกเสียง พรบ.ประชามติ สัญญานการแข็งข้อกับเพื่อไทย

“เทพไท เสนพงศ์” ภท.งดออกเสียง พรบ.ประชามติ สัญญานการแข็งข้อกับเพื่อไทย

การบินไทย เปิดเผยรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรม

การบินไทยเปิดเผยรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรม เพื่อประกอบการพิจารณาเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่ามองคำร้องของ ธีรยุทธ์  ไม่มีน้ำหนัก

อย่ามองคำร้องของ ธีรยุทธ์  ไม่มีน้ำหนัก เพราะผลงานการร้องในอดีตนั้นรัดกุมด้วยข้อกฎหมาย