ธุรกิจประกันชีวิตเผยตัวเลขครึ่งแรก ปี 65 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

Date:

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ระหว่าง มกราคม – มิถุนายน มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 289,097 ล้านบาท เติบโตลดลง 1.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 โดยจำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 79,685 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 4.75% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 209,412 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 0.82% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 82%

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 49,331 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 7.79%

2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 30,354 ล้านบาท เติบโตลดลง 19.90%

หากจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่ายจะปรากฏ ดังนี้

  1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 147,747 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.50% คิดเป็นสัดส่วน 51.11%
  2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 114,692 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 7.52% คิดเป็นสัดส่วน 39.67%
  3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 13,848 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 0.51% คิดเป็นสัดส่วน 4.79%
  4. การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,984 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 1.47% คิดเป็นสัดส่วน 2.42%
  5. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 384 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.69% คิดเป็นสัดส่วน 0.13%
  6. การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ (Direct Mail) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 17 ล้านบาท เติบโตลดลง 15.50% คิดเป็นสัดส่วน 0.01%
  7. การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 5,425 ล้านบาท เติบโตลดลง 18.32% คิดเป็นสัดส่วน 1.88%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรก ปี 2565 พบว่า เบี้ยประกันภัยรับรวมของสัญญาเพิ่มเติมประกันภัยสุขภาพ (Health) และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง (CI) อยู่ที่ 50,808 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 9.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนเริ่มตระหนักให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรวมของประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) อยู่ที่ 4,540 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.98% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ประกันบำนาญเป็นเครื่องมือการเงินประเภทหนึ่งที่ช่วยสร้างวินัยทางการออมให้มีฐานะการเงินที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ในช่วงเกษียณ และมาจากการที่ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินเมื่อเข้าวัยเกษียณ

อย่างไรก็ตามภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ในระดับที่ชะลอตัว มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวมลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ อาทิ อัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงและส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่มีความผันผวนและสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ทำให้ประชาชนชะลอการลงทุน จะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit- Linked + Universal Life) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 19,825 ล้านบาท เติบโตลดลง 8.22%

สำหรับทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2565 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,000 – 629,500 ล้านบาท อัตราการเติบโตระหว่าง 0 ถึง 2.5% และอัตราความคงอยู่ประมาณร้อยละ 82 ถึง 83 โดยหลักๆ มาจากปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คนใส่ใจและดูแลสุขภาพ และได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาทำประกันชีวิตแบบบำนาญมากขึ้น ในขณะเดียวกันพฤติกรรมการซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์ รวมกับ ช่องทางหลักอย่างช่องทางตัวแทนและช่องทางอื่นๆ เริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้น จากความสะดวก รวดเร็วและเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายมากขึ้น เพราะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันที่ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต เรื่องของการลดหย่อนภาษี รวมถึงเรื่องการขายรูปแบบ Digital Face to Face ที่ลดขั้นตอนและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการเสนอขายประกันชีวิต ซึ่งช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเกิดใหม่ของสงครามเทคโนโลยี (Cyber War) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ศ. 2562 และสัญญาการประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ (New Health Standard) ส่งผลให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตต้องพัฒนาแบบประกันและการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องบริหารความเสี่ยงรอบด้านทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานได้ทันต่อสถานการณ์ และให้ฐานะทางการเงินของบริษัทประกันยังเติบโตได้มั่นคงและแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจ ในการรับมือต่อปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนรอบด้าน สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลายเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล (Personalized) มากขึ้น รวมถึงผลักดันให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) มาใช้ในกระบวนการเสนอขายและการส่งมอบบริการหลังการขาย เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่สมาคมฯ มีการนำระบบสอบตัวแทนประกันชีวิตแบบ Virtual Examination (E-Exam) ระบบการออกใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Licensing) และระบบการอบรม – การขอต่อใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตในรูปแบบ E-Learning มาใช้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นตัวแทนประกันชีวิต

ปัจจุบัน สมาคมประกันชีวิตไทยมีการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อเป็นแกนกลางทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัทประกันชีวิตและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการตามแผนงานได้รอบด้าน และช่วยผลักดันให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

เท้ง-อุ๊งอิ๊ง ต่างมีจุดอ่อน จับตา พีระพันธุ์

“เทพไท เสนพงศ์” ชี้ “เท้ง-อุ๊งอิ๊ง ต่างมีจุดอ่อน จับตา พีระพันธุ์”

กรมสรรพากรชวน เสียภาษี ปี 2567

กรมสรรพากรเชิญชวนผู้มีหน้าที่เสียภาษี ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ประจำปีภาษี 2567ภายในกำหนดเวลา

ธอส. จัดทำ 5 สินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ยต่ำ

ธอส. จัดทำ 5 สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ เริ่มต้นเพียง 2.70% ต่อปี กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระปีแรกเริ่มต้นเพียงเดือนละ 3,000 บาท

สลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุดมรกตเต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทแล้ว  

สลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุดมรกตเต็มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทแล้; เตรียมลุ้นโชคครั้งใหม่ไปกับสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ชุดหยกจักรพรรดิ เร็ว ๆ นี้