คปภ. ไขข้อสงสัยการมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment)

Date:

ตามที่สื่อออนไลน์ได้มีการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการรับประกันภัยสุขภาพในปี 2568 อย่างแพร่หลายว่าจะมีการนำเงื่อนไขการให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) มาใช้กับผู้เอาประกันภัยทุกราย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วน และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้นั้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า การกำหนดเงื่อนไขให้มี Copayment ของสัญญาประกันภัยสุขภาพในปัจจุบัน มีทั้งหมด 2 รูปแบบ ดังนี้

1. แบบกำหนดให้มี Copayment ตั้งแต่วันเริ่มทำประกันภัยสุขภาพ โดยผู้เอาประกันภัยมีความประสงค์ที่จะร่วมจ่ายในทุกความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Claim) ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาพยาบาล เช่น หากสัญญาประกันภัยสุขภาพกำหนด Copayment 10% และมีค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย 1,000 บาท ส่วนที่เหลือ 9,000 บาท บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบ สัญญาประกันภัยสุขภาพรูปแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง หรือมีสวัสดิการประกันภัยสุขภาพกลุ่มอยู่แล้ว เนื่องจากเบี้ยประกันภัยที่ถูกกว่า ซึ่งสอดคล้องกับผู้เอาประกันภัยที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันภัยสุขภาพ

2. แบบกำหนดให้มี Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) ซึ่งจะใช้พิจารณาในช่วงที่มีการต่ออายุสัญญาประกันภัยสุขภาพเท่านั้น โดยบริษัทต้องแจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยทราบตั้งแต่วันเริ่มทำประกันภัยสุขภาพ และไม่สามารถเพิ่มเติมเงื่อนไขดังกล่าวในภายหลังได้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่ได้นำมาใช้กับผู้เอาประกันภัยทุกครั้งที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่จะนำเงื่อนไขดังกล่าวมาใช้ก็ต่อเมื่อมีการต่ออายุสัญญาฯ เมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ และมีการใช้สิทธิ์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง (ไม่รวมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วยโรคร้ายแรง หรือการผ่าตัดใหญ่) ตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในเงื่อนไขเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทจะต้องแจ้งรายละเอียดในหนังสือแจ้งเตือนการต่ออายุสัญญาประกันภัยสุขภาพว่า ผู้เอาประกันภัยเข้าเงื่อนไขที่ต้องมี Copayment ในปีกรมธรรม์ถัดไปหรือไม่ กรณีที่เข้าเงื่อนไขการมี Copayment ในปีกรมธรรม์ถัดไป บริษัทต้องแจ้งรายละเอียดถึงสาเหตุของการมี Copayment โดยจะต้องออกบันทึกสลักหลังให้กับผู้เอาประกันภัย และหากปีกรมธรรม์ถัดไป ไม่เข้าเงื่อนไขการมี Copayment แล้ว บริษัทก็ต้องมีการชี้แจงให้ผู้เอาประกันภัยทราบด้วยเช่นเดียวกัน

การกำหนดหลักเกณฑ์ ให้มี Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) ที่ภาคธุรกิจประกันชีวิตได้ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทาง และนำเสนอกับทางสำนักงาน คปภ. มี 2 กรณี ดังนี้

กรณีแรก ผู้เอาประกันภัยมี Copayment 30% หากมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ 200% 

กรณีที่สอง ผู้เอาประกันภัยมี Copayment 30% หากมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ 400% โดยจะไม่นำมาใช้กับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือการผ่าตัดใหญ่

ทั้งนี้ การกำหนดให้มี Copayment ในทุกกรณี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 50% นอกจากนี้เมื่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยไม่เข้าเงื่อนไขการให้มี Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) บริษัทจะกลับมาใช้เงื่อนไขปรกติตามเดิมที่ไม่ต้องมี Copayment

สำนักงาน คปภ. เชื่อมั่นว่า การกำหนดให้มี Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย (Renewal) จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ที่ช่วยควบคุมต้นทุนที่เกิดจากการรักษาพยาบาล และช่วยลดพฤติกรรมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกินความจำเป็นทางการแพทย์ ที่ส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยของทั้งพอร์ตโพลิโอ โดยจะมีการพิจารณาสถิติการรับประกันภัยของสัญญาประกันภัยสุขภาพที่มีหลักเกณฑ์ Copayment นี้ เพื่อนำมาพิจารณากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโดยรวมให้สามารถสะท้อนความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ระบบการประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจเกิดความยั่งยืนต่อไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

บสย. หนุน SME “กลุ่มเปราะบาง” ออกมาตรการ “ลด ปลด หนี้”

บสย. มอบของขวัญปีใหม่ 2568 ช่วย SMEs ตัวเบา ส่งมาตรการใหม่ หนุน SMEs “กลุ่มเปราะบาง” ลด ปลด หนี้

EXIM BANK พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดการค้าโลก

EXIM BANK จับมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและพันธมิตร มอบของขวัญปีใหม่สำหรับผู้ส่งออกสินค้าฮาลาล

EXIM BANK จัดงาน EXIM: Excellence in Trust for Sustainability

EXIM BANK จัดงาน EXIM: Excellence in Trust for Sustainability ตอกย้ำความมุ่งมั่นในแนวคิด ESG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ 2568 

EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญพิเศษปีใหม่ 2568 สร้าง “ชีวิตดี มีความสุข ดีต่อใจ” ผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก