
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้ร่วมเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ “Knowledge Sharing on the Use ofTechnology for Surveying Natural Disasters in Crop Insurance” จัดโดยสำนักงาน คปภ. ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) นำโดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมด้วยผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ และบริษัทตัวแทนและนายหน้าประกันภัย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อยกระดับระบบประกันภัยพืชผลของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบประกันภัยพืชผลมีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรไทยที่เผชิญกับภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง โรคพืช และแมลงศัตรูพืช โดยสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการบูรณาการข้อมูลสถิติการใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อประเมินความเสียหายอย่างแม่นยำ โปร่งใส และยุติธรรมพร้อมทั้งผลักดันให้ระบบประกันภัยพืชผลกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ โดยได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการขยายความคุ้มครองจากข้าวไปสู่พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และBig Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายค่าสินไหม ลดข้อพิพาท และสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนภาครัฐ และภาคธุรกิจประกันภัย โดยมุ่งเป้าสู่การสร้างระบบประกันภัยที่โปร่งใส เข้าถึงได้ และยั่งยืนในทุกมิติ นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจภัยธรรมชาติสำหรับการประกันภัยพืชผล โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุม ตั้งแต่วิวัฒนาการของระบบประกันภัยการเกษตรของไทย ความท้าทายในการประเมินความเสียหายของพืชผล ไปจนถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการพัฒนาแบบจำลองและการตรวจสอบภัยธรรมชาติ ในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ที่สามารถนำมาใช้เป็นรากฐานของการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลที่ตอบโจทย์เกษตรกรไทยได้อย่างแท้จริง
“การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ รวมถึงบริษัทนายหน้าประกันภัยที่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางนี้ไปสู่การปฏิบัติจริง สำนักงาน คปภ.และ สศก. พร้อมที่จะผลักดันและสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลชนิดใหม่ ๆ และครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งกรอบความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะจุดประกายการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อพัฒนาและต่อยอดการประกันภัยภาคการเกษตรของประเทศให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย