คนไทยซื้อทองคำปี 2566 โตมากสุดในอาเซียน

Date:

รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำหรือ Gold Demand Trends จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเพิ่มขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จาก 38.4 ตันในปี 2565 เป็น 42.1 ตันในปี 2566 การเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีมากกว่าการปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำแบบเครื่องประดับ

รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า ภาพรวมความต้องการทองคำในระดับโลก ซึ่งไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) ตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่จำนวน 4,448 ตัน ในปี 2566 ปรับลดลงเพียง 5% จากปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่มีการเติบโตแข็งแกร่งเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาปัจจัยความต้องการจากตลาดซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และแหล่งที่มาอื่นๆ  เข้าด้วยกัน พบว่าความต้องการโดยรวมของปี 2566 ได้เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่จำนวน 4,899 ตัน การลงทุนจากแหล่งที่มาของความต้องการทองคำซึ่งไม่สามารถระบุชัดเจนเหล่านี้ ได้สนับสนุนให้ราคาทองคำเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2566 พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2565 ทำให้จำนวนความต้องการอยู่ที่ระดับ 1,037 ตันในปีที่ผ่านมา ผลักดันให้ยอดรวมตลอดทั้งปีสูงสุดเป็นอันดับสองจากที่มีการบันทึกมาทั้งหมด และลดลงเพียง 45 ตันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ตรงกันข้ามกับความต้องการที่แข็งแกร่งในภาคการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์และธนาคารกลาง การไหลออกของการลงทุนจากกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ที่จัดเก็บทองคำแท่งสำหรับนักลงทุน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2566 โดยลดลง 244 ตัน เป็นการปรับลดปีที่สามติดต่อกัน ซึ่งการไหลออกของการลงทุนในยุโรปเป็นปัจจัยส่งอิทธิพลต่อภาพรวม

ด้านสถานการณ์ของทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุน พบว่าความต้องการทั่วโลกลดลง 3% โดยความแข็งแรงของตลาดบางภูมิภาคได้ช่วยชดเชยความต้องการที่ลดลงในบางตลาด ในทางกลับกันพบว่าประเทศไทยมีการเติบโตปี 2566 แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการเติบโตเป็นบวกในปีที่ผ่านมา ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 13% จาก 29 ตันในปี 2565 เป็น 32.9 ตันในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ความต้องการยังคงถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับในอดีตก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยจากปี 2558 ถึง 2562 อยู่ที่ 63 ตันต่อปี

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่สาเหตุของความต้องการที่ลดลงจากในอดีตอาจเนื่องมาจากความนิยมในแพลตฟอร์มการลงทุนทองคำออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการซื้อขายทองคำในระยะสั้นมากขึ้น และทำให้การลงทุนแบบ ‘ซื้อแล้วถือ’ ระยะยาวลดลง”

ในตลาดอาเซียนประเทศอื่น ๆ รวมถึงเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำลดลง 2%, 4%, 5% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับระดับความต้องการจากยุโรปที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณที่ลดลงนี้ถูกชดเชยด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากประเทศจีนหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งเพิ่มขึ้น 28% เป็น 280 ตันสนับสนุนด้วยการเติบโตที่โดดเด่นจากประเทศอินเดีย (185 ตัน) ตุรกี (160 ตัน) และสหรัฐอเมริกา (113 ตัน)

ตลาดทองคำเครื่องประดับทั่วโลกมีความต้องการเพิ่มขึ้น 3 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้พิสูจน์แล้วว่าตลาดมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากแม้ราคาทองคำจะสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยจีนมีบทบาทสำคัญและมีความต้องการทองคำเครื่องประดับเพิ่มขึ้นถึง 17% ภายหลังการฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ซึ่งช่วยชดเชยกับปริมาณที่ลดลง 9% ในประเทศอินเดีย

ด้านความต้องการทองคำเครื่องประดับในประเทศไทย มีการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา (จาก 2.5 ตันในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เป็น 3.0 ตันในไตรมาสที่ 4 ปี 2566) แต่ยังไม่สามารถทำให้ปริมาณทั้งปีเติบโตเป็นบวกได้ โดยความต้องการตลอดทั้งปีลดลง 2% อยู่ที่ 9 ตัน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมาเนื่องจากราคาทองคำที่ลดลงก็ตาม

คุณเซาไก อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในช่วงไตรมาสที่ 4 ราคาสินค้าเกษตรของไทยที่สูงขึ้นได้กระตุ้นให้ความต้องการจากพื้นที่ชนบทเติบโต ซึ่งก่อนหน้านี้ตลอดทั้งปีมีปริมาณน้อยกว่าในพื้นที่เมือง อย่างไรก็ตามปริมาณทองคำรีไซเคิลในตลาดเครื่องประดับของประเทศไทย ได้เพิ่มขึ้นในปี 2566 เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้นได้ดึงให้มีการนำทองคำที่ถือครองอยู่ออกมา” 

การผลิตทองคำจากเหมืองแร่ค่อนข้างทรงตัวในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1% ในขณะที่ปริมาณการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 9% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์เนื่องจากราคาทองคำที่สูง ทำให้อุปทานโดยรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 3%

คุณหลุยส์สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลกแสดงความเห็นว่า“ความต้องการที่ไม่เปลี่ยนแปลงของธนาคารกลาง ได้ช่วยสนับสนุนปริมาณความต้องการทองคำในปีนี้อีกครั้ง และช่วยชดเชยความอ่อนแอในตลาดภาคส่วนอื่นๆ ทำให้ความต้องการทองคำปี 2566 อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 ปี นอกเหนือจากนโยบายการเงินแล้ว ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์มักจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของปริมาณความต้องการทองคำ และในปี 2567 เราคาดว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อตลาด ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ ความตึงเครียดทางการค้า และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมากกว่า 60 ครั้งทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาหาทองคำ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย”

คุณหลุยส์ กล่าวเสริมว่า “เรารู้ว่าธนาคารกลางมักอ้างอิงถึงผลการลงทุนในทองคำช่วงที่เกิดวิกฤตเป็นเหตุผลในการซื้อ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความต้องการจากภาคส่วนนี้จะยังคงสูงต่อไปในปีนี้ และอาจช่วยชดเชยกับความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงเนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง”

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ทีดีอาร์ไอ เตือนการเมืองแทรกแซงธปท. 

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เตือนการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจ กระทบเศรษฐกิจเสียหาย

ผู้ประกันตนยื่นกู้ แห่ขอกู้สินเชื่อบ้าน ธอส.

ธอส. เผยผู้ประกันตน ยื่นขอสินเชื่อกับ ธอส.  ดอกเบี้ยต่ำ วันแรกเป็นจำนวนมาก กว่า 2,000 ราย

บมจ.ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้ง 3Q24 แกร่ง กำไรสุทธิพุ่งแตะ 87 ล้านบาท 

บมจ.ไทยวิวัฒน์ โฮลดิ้ง 3Q24 แกร่ง กำไรสุทธิพุ่งแตะ 87 ล้านบาท ส่งซิกปิดปี 67 เบี้ยรับรวมโตตามเป้า 10% 

บมจ.เบริล 8 พลัส โชว์ผลงานไตรมาส 3 โตต่อเนื่อง

บมจ.เบริล 8 พลัส โชว์ผลงานไตรมาส 3 โตต่อเนื่อง โกยกำไรสุทธิ 44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8%