ลดความเหลื่อมล้ำของคนเมืองด้วย TOD

Date:

ทุกครั้งที่เมืองมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางระบบขนส่ง ศูนย์การแพทย์ สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งโครงการก่อสร้างพื้นที่เมืองใหม่ ย่อมเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกันหากการพัฒนานั้น ไม่ได้คำนึงถึงแหล่งชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงก็จะเกิด “ความเหลื่อมล้ำ” โดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เกิดภาพแหล่งชุมชนเสื่อมโทรม ตั้งเทียบเคียงคอนโดมิเนียมสุดหรู อยู่ท่ามกลางตึกระฟ้า ชุมชนใหม่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ชุมชมดั้งเดิมกลับไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลย

ดังนั้นการนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD (Transit Oriented Development) จึงถูกนำมาใช้ในการพัฒนาควบคู่ไปกับการขยายเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ชุมชนเมือง โดยยึดแนวคิด “ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่อย่างเท่าเทียม” ด้วย 4 วิธีการเหล่านี้

1.สร้างพื้นที่จัดกิจกรรมร่วมกัน

ในเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ไม่ได้มีการวางผังเมืองระยะยาวอย่างเป็นระบบ จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือปัญหาพื้นที่ชุมชนแออัดใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุมชนสงเคราะห์ พื้นที่จัดสรรให้ที่อยู่อาศัยแก่ ผู้ยากไร้จากภาครัฐ หรือชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยมายาวนานหลายสิบปี เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงที่มีการจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีความสวยงามน่าอยู่ มีผู้คนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น

ทำให้ชุมชนดั้งเดิมในบริเวณนั้นเกิดความรู้สึกแปลกแยก ด้วยวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป จากการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ จนพวกเขาไม่กล้าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในพื้นที่ใหม่ และสุดท้ายพวกเขาจะละทิ้งวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมไปสู่สังคมเมืองยุคใหม่ ทำให้พื้นที่เดิมที่เคยมีประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ถูกลบเลือน เพราะการพัฒนาเมืองไม่จูงใจให้พวกเขาอยากสานต่อสิ่งที่มีอยู่

ในแนวทางแก้ไขปัญหาของ TOD จะใช้การบริหารจัดการพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed-Use) ด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียว พื้นที่สนามเด็กเล่น และพื้นที่โล่งกว้าง ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง หรือพื้นที่โล่งภายในอาคาร สำหรับใช้เป็นพื้นที่ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิม และชุมชนใหม่ สามารถใช้งานพื้นที่ เพื่อจัดกิจกรรมร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ช่วยให้คนที่อาศัยในชุมชนดั้งเดิมไม่รู้สึกแปลกแยก ในการนำเสนอประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

2.เชื่อมกันด้วยโครงข่ายทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยาน

สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนอุปสรรคขวางกั้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ก็คือเรื่องของการเดินทางของชุมชนดั้งเดิมที่ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนชุมชนที่อยู่ในพื้นที่พัฒนารัศมี 600 เมตรรอบสถานีขนส่งสาธารณะ ที่มีการออกแบบพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยานที่มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย ในขณะที่พื้นที่ชุมชนดั้งเดิมยังใช้โครงข่ายทางเดินเท้าที่ไม่ได้รับการพัฒนา และเส้นทางจักรยานที่ใช้รวมบนท้องถนน ทำให้ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบ เดินทางเข้าถึงพื้นที่การพัฒนาได้ยาก กลายเป็นเส้นแบ่งเขตการพัฒนาเมืองที่เห็นได้ชัดเจน

แนวทางแก้ไขของ TOD จะนำเสนอให้สภาเมืองหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำการขยาย การพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงนอกเหนือจากรัศมีการพัฒนา เพื่อสร้างเส้นทางที่เอื้อต่อการเดินทางเท้าและจักรยาน ช่วยให้ผู้คนรู้สึกได้ว่าการพัฒนาได้มาถึงหน้าบ้านของพวกเขา ด้วยการมีทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยานที่กว้างขวาง สะอาด ปลอดภัย มากกว่าเดิม และเชื้อเชิญให้พวกเขาหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น

3.สร้างโครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนอยากย้ายถิ่นฐานไปอยู่ใจกลางเมือง คือการขาดโครงสร้างพื้นฐาน และร้านค้าขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลาย จำเป็น เช่นการวางแผนพัฒนา โรงพยาบาลขนาดใหญ่ คลินิก ตลาดสด ร้านอาหาร ร้านขายยา ไปรษณีย์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ทำให้พวกเขาอยากย้ายถิ่นฐานเข้าตัวเมือง เพื่อได้รับความสะดวกสบายจากสิ่งเหล่านี้

ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และร้านค้าขนาดเล็กที่จำเป็น จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยทั้งชุมชนเก่าและใหม่เกิดความรู้สึกว่าชุมชนที่พวกเขาอยู่นั้นมีทุกสิ่งทุกอย่างครบครัน ไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตเพียงเพื่อต้องการใช้โรงพยาบาลที่ดีกว่าหรือต้องเดินมากกว่า 6 กม. เพียงแค่ซื้อของที่ตลาดสด

เมื่อมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ จะเป็นการกระจายความเจริญไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในตัวเมืองใหญ่ แต่จะกระจายไปตามพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนามาอย่างดี ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงร้านค้าและโครงสร้างพื้นฐาน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเกิดจากการกระจายความเจริญอย่างไม่ทั่วถึง

4.ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างงาน

การสร้างตำแหน่งงานในพื้นที่การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ จะช่วยลดความคิดว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและกดดันให้พวกเขาต้องออกจากพื้นที่ การลงทุนให้มีธุรกิจร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่เป็นการเปิดโอกาสในการสร้างงานใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่เดิมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และดึงดูดให้พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป

ขณะเดียวกันการพัฒนาตามแนวทาง TOD จะออกแบบพัฒนาพื้นที่ตามจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกันออกไป เช่นในบางพื้นที่อาจเด่นเรื่องการเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ จะเป็นไปในรูปแบบของการอนุรักษ์ และเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยการสร้างงาน หรือเปิดธุรกิจของตัวเองให้สอดคล้องกับการพัฒนา เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าการพัฒนาตามแนวทางของ TOD ไม่เพียงแต่ช่วยจูงใจให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเมือง ด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยไม่ทำลายเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในพื้นที่ที่กำลังได้รับการพัฒนา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม

Share post:

spot_img

Related articles

อุ๊งอิ๊งค์ วันแรก ก็โดนเสียแล้ว

อุ๊งอิ๊งค์ วันแรก ก็โดนเสียแล้ว “อาปู กับ หลานอิ๊งค์ แตกต่างกันอย่างไร”

แนะรัฐบาลขึ้นภาษี VAT พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ 

อดีต รมว.คลัง แนะรัฐบาลใหม่ขึ้นภาษี VAT เพิ่มรายได้ประเทศแสนล้าน พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ

ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

“นายเทพไท เสนพงศ์” บอก ครม.สืบสันดาน ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

“นายเทพไท เสนพงศ์” ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง จะรอดข้ามปีมั้ย???

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427