“จุรินทร์” ซัดงบเพิ่มเติม 67 แจกเงินดิจิทัล  “สุดเห่ย”

Date:

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์  ได้ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า วันนี้เป็นอีกวันที่ต้องมาพูดเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต ทั้งที่ควรจะจบไปนานแล้ว เพราะจากการที่รัฐบาลเคยสัญญาว่าจะทำทันที แต่วันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น  และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะวันนี้ รัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 67 เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งมีสาระสำคัญแค่ประการเดียว คือเพื่อขอกู้มาแจก 1.12 แสนล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 450,000 ล้าน ที่รัฐบาลจะเอาไปทำดิจิทัล วอลเล็ต 

จากการที่ตนติดตามข่าวมาโดยลำดับ มีคนในรัฐบาลอ้างว่าเราทำเหมือนประเทศสิงคโปร์ ที่นายกคนใหม่ของสิงคโปร์เป็นคนประกาศแจกเอง แต่ตนขอทำความเข้าใจใหม่ว่า การที่สิงคโปร์ที่แจกนั้น เขาแจกจริง เพราะเขามีเงินเหลือพอที่จะให้แจก แต่ประเทศไทยเป็นการกู้มาแจก จึงเป็นคนละเวอร์ชั่นกัน

ทั้งนี้นายจุรินทร์ ได้ย้ำเพื่อความชัดเจนว่า ตนไม่เคยต่อต้านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล และในทางตรงกันข้าม ตนได้ทวงถามแทนประชาชนทุกครั้งว่า เงิน 10,000 บาท ที่รัฐบาลประกาศที่จะแจกตั้งแต่ตอนหาเสียงจะได้เมื่อไหร่ และจะได้กี่โมง จนถึงวันนี้ยังคงทำหน้าที่ทวงถามอีกรอบ เพราะถือหลักว่าเมื่อพรรคการเมืองไปหาเสียง ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะไปสัญญาแลกเอาคะแนนมาแล้ว ต้องชดใช้กับประชาชน โดยจะต้องทำให้ทันเวลา ถูกกฎหมาย โปร่งใส และคุ้มค่ากับประเทศ

นอกจากนี้การที่ตนต้องพูดเรื่องดังกล่าวอีกรอบหนึ่ง เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้บอกกับประชาชน บางเรื่องบอกไม่หมด บางเรื่องบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงที่ควรจะบอก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ ต้องเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของรัฐบาลให้ประชาชนได้เห็น เพื่อเป็นประโยชน์ให้รัฐบาลจะได้นำไปปรับปรุงการบริหารโครงการต่อไป และเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ร่วมกันว่า หลังจากแจกเงินคนละ 10,000 บาทแล้ว ผลที่จะตามมากับประเทศมีอะไรบ้าง ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องความล่าช้าของโครงการ การที่โครงการล่าช้านั้นไม่ใช่เพราะแรงค้านของฝ่ายใด แต่ล่าช้าเพราะความ “โหลยโท่ย” ของรัฐบาลเอง ที่บริหารราชการแผ่นดิน เหมือน “เด็กเล่นขายของ” “เป็นไม้หลัก ปักขี้เลน” โอนไปเอนมาเอาแน่อะไรไม่ได้

– เรื่องเวลา เลื่อนมาหลายรอบ จนวันนี้ประชาชนลงเหลือเก้อมาแล้วกี่ลำ

– แหล่งเงิน กลับไปกลับมา ขนาดนายกฯ ออกมาโชว์พาวนำทีมแถลงเองว่า บอกว่าต่อไปนี้ชัดเจน แล้วก็ต่อมาก็ยกเลิกสิ่งที่ตัวเองแถลง นายกรัฐมนตรีท่านนี้เชื่อถือได้กี่เปอร์เซ็นต์ 

– ตอนหาเสียง คงจำได้ “แจกทันทีไม่มีกู้” พอเป็นรัฐบาลไม่กี่วัน ออกลาย “เลื่อนทันที มีแต่กู้” ถึงขั้นออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้าน แต่สุดท้ายยกธงขาว เพราะจำนนด้วยข้อกฎหมายว่าทำไม่ได้ เพราะที่รัฐบาลพยายามสร้างประเด็นว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤต เอาเข้าจริง ประเทศไม่ได้วิกฤตถึงขั้นต้องกู้มาแจก

– เปลี่ยนมาเป็นใช้เงิน ธกส. แทน ท่ามกลางเสียงเตือนว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะเงิน ธกส. มีไว้ดูแลเกษตรกรเท่านั้น แต่จะเอามาแจกแบบเหวี่ยงแห “แบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่” ที่ตนอภิปรายไปเหมือนคราวที่แล้วนั้นทำไม่ได้ มันสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลก็เสียงแข็ง ยืนยันว่าทำได้ เสียเวลาไปสามเดือน เพราะความดื้อรันดันทุรังของรัฐบาล จนสุดท้ายโยนผ้าอีกรอบ แสดงว่ายืนยันมาตลอดแค่ “ปากกล้า ขาสั่น” สร้างความหวังให้ประชาชนไปวัน ๆ เท่านั้นเอง

– เมื่อวานซืน มาใหม่อีกแล้ว ขอเปลี่ยนเป็นแหล่งเงินที่จะมาแจก มาจากสองแหล่ง 1. จากงบประมาณปี 67 จำนวน 165,000 ล้านบาท 2. งบปี 68 จำนวน 285,000 ล้านบาท รวมเป็น 450,000 ล้านบาท โดยงบปี 67 แยกเป็น 2 ก้อน งบปี 68 ก็แยกเป็น 2 ก้อน รวมเป็น 4 ก้อน

งบปี 67 165,000 ล้านบาท แยกเป็นงบกลางปี 122,000 บาท ที่กำลังขอสภาอยู่ขณะนี้ และกำลังพิจารณาอยู่ว่าได้หรือไม่ได้ อีกก้อนหนึ่งใช้คำว่า ไปบริหารจัดการ อีก 43,000 ล้านบาท ส่วนงบ 68 แยกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกงบกลางของ ปี 68 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ยังไม่จบ จำนวน 152,700 ล้านบาท และอีกก้อนหนึ่งรัฐบาลก็ใช้คำหรูว่า เป็นงบเกิดจากการบริหารจัดการ อีก 132,300 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าอยู่ไหนเลย แต่ความจริงก็คือจนวันนี้เม็ดเงินจริงยังไม่มีสักบาทเดียว ยังล่องลอยอยู่ในอากาศ เพราะว่ายังจะต้องรอขั้นตอนกระบวนการทั้ง 450,000 ล้านบาท หลายประเด็นจึงยังไม่นิ่ง และนิ่งไม่ได้ เพราะรัฐบาลบริหารแบบ “คิดไปทำไป” และที่ร้ายที่สุด ถ้าใครติดตามอย่างละเอียดจะพบว่าเป็นแบบ “สวนมาสวนกันไป” อีกด้วย

นายจุรินทร์ ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาจะเห็นว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ออกมาแถลงเรื่องแหล่งเงิน 43,000 ล้าน โดยบอกว่าจะเอามาจากงบกลาง ปี 67 แต่ไม่ทันขาดคำ รัฐมนตรีช่วยคลัง ออกมาแถลงว่า 43,000 นั้น ไม่จำเป็นต้องเอามาจากงบกลางทั้งหมดก็ได้ “นี่มัน ครม. ชุดเดียวกันมั้ย” 

สำหรับเรื่องวันลงทะเบียน รัฐมนตรีช่วยคลังแถลง หลังการประชุมคณะกรรมการ ดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ ที่นายกฯ เป็นประธาน ซึ่งก็นั่งประชุมอยู่ด้วยกันทั้งนายกฯ ทั้งรัฐมนตรีช่วยคลัง พอประชุมเสร็จนายกฯ มอบรัฐมนตรีช่วยคลังแถลง รัฐมนตรีช่วยคลังก็ออกมาแถลงว่าวันลงทะเบียนจะมอบให้กับคณะอนุกรรมการไปพิจารณาว่าเป็นวันไหน ยืนแถลงอยู่ต่อหน้านักข่าว นายกฯ โพสต์ X บอก ลงทะเบียน 1 สิงหา 

“ผมเห็นใจรัฐมนตรีช่วยคลังจริงๆ ไปไม่เป็นเลยครับ เพราะนายกฯ มาตัดหน้าแย่งซีนแถลงไปก่อนหน้า ไปดื้อๆ” 

เรื่องสินค้า อะไรซื้อได้ อะไรซื้อไม่ได้ ก็ยังไม่จบ เพราะคณะกรรมการชุดใหญ่มอบกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาอีก ตนถึงบอกว่า “มันคิดไปทำไป แล้วแถมยัง สวนกันมา สวนกันไป” 

ยอดเงิน ลดมาสามรอบแล้ว จากเริ่มต้นยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะ 560,000 ล้านบาท แล้วก็ลดลงมาเหลือ 5 แสนล้าน แล้วก็ลดอีก เหลือ 450,000 “จากเรือยอร์ชก็เลยกลายเป็นเรือแจวไปแล้ววันนี้” แต่ยังคงเป้าหมาย 50 ล้านคนไว้ ไม่ลด โดยอ้างว่าที่ไม่ลด 50 ล้านคน แต่ไม่เตรียมไว้ 5 แสนล้าน เตรียมไว้แค่ 450,000 ล้านบาท เพราะหวังว่า 5 ล้านคน หรือ 10% จะไม่มาใช้สิทธิ์ 

“แต่มันมีคำถามว่า ถ้า 5 ล้านคน เกิดมาใช้สิทธิ์ล่ะ ท่านจะเอาเงินไหนอีก 5 หมื่นล้าน เอาไปแจก ผมถึงบอกว่า นี่มัน นั่งเรือแจวไปตายเอาดาบหน้าชัดๆ เลย” 

ส่วนเรื่องการหาเม็ดเงินมาแจก ที่รัฐบาลอ้างว่าจะเอามาจากการบริหารจัดการ 2 ก้อน (1. จากงบ 67 เดิมที่ผ่านสภาแล้ว 43,000 ล้าน 2. จากงบ 68 ที่ยังไม่รู้อยู่ไหน 132,300 ล้าน) เริ่มจาก (ก้อนที่ 1) งบ 67 43,000 ล้าน ที่รัฐบาลหวังว่าจะไปเอามา นายกมาตอบกระทู้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบอกว่า เรื่องงบกลางที่ฝ่ายค้านท้วงติงว่าไม่ได้ใช้เลยนั้นไม่จริง มีการใช้ไปเยอะแยะนั้น นายจุรินทร์ อภิปรายว่า จากการที่ตนไปตรวจสอบตัวเลขพบว่า นายกฯ พูดความจริงครึ่งเดียว เพราะคำว่างบกลางที่ไม่ได้ใช้ และรัฐบาลหวังจะเอามาทำดิจิทัล วอลเล็ต นั้น มันอยู่ในงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่ 95,000 บาท หรือเกือบแสนล้าน แต่ทราบหรือไม่ว่าวันนี้ใช้ไปแล้วกี่ตังค์ จากตัวเลขของกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 11 กค. 67 รัฐบาลใช้ไปแค่ 3,238 ล้านบาท คิดเป็น 3.25% แปลว่าการเบิกจ่ายเงินของจริงโดยเฉพาะงบฉุกเฉิน “เกียร์ว่าง” เพื่อให้เงินก้อนนี้เหลือใช้ แล้วเอามาแจกได้ซัก 43,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการที่พยายามออกข่าว สร้างภาพใหญ่โต ด้วยการเชิญหน่วยงานมากำชับเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตให้ได้ 3% ก็เป็นเพียง “การละครชัดๆ” เพราะพอลงลึกงบนายกเองยังไม่ได้ใช้ เพราะจะยักไว้เอามาแจก สนองนโยบายพรรคการเมืองและรัฐบาล

อีกก้อน (ก้อนที่ 2) งบ 68 132,300 ล้านบาท ที่บอกว่าจะใช้บริหารจัดการ แต่ไปควักเอามา จนวันนี้ยังไม่อยู่ไหน และจะเอามาจากที่ไหน ขอให้รัฐบาลช่วยตอบด้วย วันนี้ กมธ. กำลังพิจารณา งบปี 68 อยู่ หรือว่า 1. จะใช้เสียงข้างมากใน กมธ. ไปตัดงบมากองไว้ให้เยอะที่สุด ตัดจากกระทรวงโน้น กระทรวงนี้ ของพรรคร่วมโน้น พรรคร่วมนี้ แล้วใช้มติ ครม. ใส่ไปในงบกลาง เพื่อเอาไปทำดิจิทัล วอลเล็ต 

“แล้วพรรคร่วมรัฐบาลว่ายังไง จะนั่งเป็นตัวการ์ตูนอยู่เหรอ แล้วท่านจะบรรลุนโยบายพรรคการเมืองของท่านเฉพาะที่ไปสัญญาประชาชนไว้ ทำได้มั้ย ในเมื่อเอาไปให้พรรคเดียวเขาทำหมดแล้ว ประชาชนจะเสียหายขนาดไหน กระทรวงแต่ละกระทรวงจะเอาเงินที่ไหนไปบริหาร เพราะเขาวางแผนกันมาครบถ้วน สมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว” 

หรือว่า จะต้องมาเสนองบกลาง ปี 68 อีก เพื่อให้ได้เงินพอ 132,300 ล้านบาท แล้วจะต้องบวกอีก 50,000 ที่บอกว่าคนจะไม่มาใช้สิทธิ์ 5 ล้านคน 

นี่คือความจริงที่รัฐบาลไม่ได้บอกและตนต้องมาบอก แล้วนี่คือ “วิบากกรรมที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเอง และไม่ได้บอกประชาชน” ให้รับทราบ ทำให้ตนต้องมาทำหน้าที่บอกกับประชาชนแทนรัฐบาล

อีกเรื่องหนึ่งคือ ตัวพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ ที่รัฐบาลเสนอและสภากำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย หลักการ เหตุผล และเนื้อหา มีเพียง 6 มาตรา 1. ขอเงิน 122,000 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายใส่ไว้ในงบกลาง 122,000 เพื่อทำ ดิจิทัล วอลเล็ต โดยเฉพาะ 2. ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งจ่าย เฉพาะ 122,000 ล้านบาทนี้  3. ระบุรายได้ว่าไม่ได้กู้ทั้งดุ้น เพื่อแก้เกี้ยวว่า อย่างน้อยก็ให้มีรายได้มาสัก 10,000 ล้านบาท  แต่เมื่อไปอ่านเอกสาร ได้ระบุว่ารายได้ 10,000 ล้านบาทที่ว่ามาจากภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการเก็บรายได้ ซึ่งเดิมนั้นไม่ได้กำหนดไว้ในงบประมาณการ  ซึ่งตนก็ยังดีใจและคิดว่าอย่างน้อยก็ยังมีเงินภาษี หรือเงินที่เกิดจากการฝีมือรัฐบาลเพิ่มขึ้น สักหมื่นล้าน แม้ว่างบ ปี 67 รัฐบาลจะเก็บรายได้ต่ำเป้ามาตลอดก็ตาม ก็ยังพอเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาล แต่พอไปดูเข้าจริง เงิน 10,000 ล้าน กลับมาจากรายได้ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ต้องโอนให้คลัง เลยถือโอกาส “โดยสาร” ใส่มาเป็นรายได้ของรัฐบาล เพื่อจะได้แก้เกี้ยวว่าไม่ได้กู้ทั้งดุ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้จึงกลายเป็น “เงินบุญหล่นทับ” ไม่ได้เกิดจากฝีมือรัฐบาลจริง  

เมื่อรายจ่าย 122,000 ล้าน รายได้ 10,000 ล้าน จึงกลายเป็นว่า ถ้าจะอนุมัติพระราชบัญญัติวันนี้ จะเท่ากับการอนุมัติให้รัฐบาลไปกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลอีก 112,000 ล้านบาท เพียงเพื่อเอามาแจก สนองนโยบาย ส่วนการใช้หนี้ ทั้งต้นทั้งดอกเป็นเรื่องอนาคตที่ต้องไปใช้หนี้กันเองสำหรับประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งรายจ่ายลงทุนที่ใส่ไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้  เรื่องนี้มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทุกวงการของคนมีความรู้ เพราะงบปี 67 เพิ่มเติมฉบับนี้ ระบุไว้ 122,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตีความว่าจะแบ่งเป็นสองก้อน 20% เป็นรายจ่ายประจำ 80% เป็นรายจ่ายลงทุน รายจ่ายลงทุนจาก 97,600 ล้านบาท เป็นเงินลงทุน  มีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไปตีความว่าเป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% ซึ่งไม่น่าจะจริง  เพราะ ดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ใช่เงินลงทุน แต่เป็นเงินโอนเพื่อบริโภค

นิยามคำว่า ”รายจ่ายลงทุน” ของสำนักงบฯ ก็ระบุชัดว่า หมายถึงรายจ่ายที่รัฐบาลจ่ายเพื่อ 1. จัดหาสินทรัพย์ประเภททุน ทั้งที่มีตัวตน และไม่มีตัวตน  ที่มีตัวตน เช่น ครุภัณฑ์ ที่ดิน  อาคาร สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น  ที่ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และการสัมปทานที่เกี่ยวกับที่ดิน เป็นต้น  ตลอดจนรายจ่ายลงทุน คือรัฐบาลที่อุดหนุน หรือโอนให้แก่บุคคล องค์กร รัฐวิสาหกิจ โดยผู้รับไม่ต้องจ่ายคืน หรือรัฐบาลให้เปล่านั่นเอง และผู้รับต้องนำไปใช้จัดหาสินทรัพย์ประเภททุน “ไม่ใช่เอาไปบริโภค” 

นอกจากนี้ยังหมายถึงรายจ่ายเพื่อการเพิ่มทุนทรัพย์ทางการเงิน โดยผู้รับตั้งใจ นำไปลงทุน “ไม่ใช่ไปบริโภค” เพราะฉะนั้นการไปวินิจฉัยเอาเองว่าเงิน 122,000 ล้านบาท ที่มาขออนุมัติสภาวันนี้ เท่ากับเงินลงทุนถึง 80% “นี่เป็นการคาบลูก คาบดอกไปหน่อยมั้ย” และสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (1) ต่อไป

ตนเข้าใจรัฐบาล ที่พยายามจะใส่ฟองสบู่ให้เห็นว่าเงินที่มาขอกู้วันนี้  ความจริงแล้วจะเอาไปลงทุนเยอะ ไม่ได้เอาไปบริโภคอย่างเดียว และจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในการพัฒนาต่อไป แต่มันหนีความจริงไม่พ้น ว่าที่แจกไปนี้ แจกให้ไปบริโภค ไม่อย่างนั้นจะมีการไปกำหนดสินค้าทำไม ว่าอะไรซื้อได้ อะไรซื้อไม่ได้ แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่าบริโภค จะเรียกว่าอะไร แต่หวังการลงทุนทอดสอง ทอดสามว่า พอซื้อมากๆ โรงงานจะได้ผลิตสินค้ามากขึ้น ไปลงทุนมากขึ้น แต่มันแจกแค่ 6 เดือน แป๊บเดียวมันก็หายไปแล้ว จะมาคิดเป็นลงทุนตั้ง 80% ได้อย่างไร

เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องพูดคือ เรื่องความคุ้มค่า รัฐบาลตีปี๊บมาตลอดว่าทำ ดิจิทัล วอลเล็ต แล้วจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% นายกฯ พูดเอง พูดหลายรอบด้วย และจะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะจะเอาเงิน 500,000 ล้าน หรือ 450,000 ล้าน ไปใส่มือคนไทย หลังจากนั้นก็หมุนไปหาร้านค้า จากร้านค้าก็จะหมุนไปหาโรงงาน แล้วก็เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใน 6 เดือนที่แจก และจะทำให้จีดีพี เฉพาะดิจิทัล วอลเล็ต โต 1.2 % – 1.8 % ตัวเลขกลางก็คือ 1.5% เพิ่มขึ้น  “พูดอย่างกับ ตลกคาเฟ่ ดูถูกคนคิดเลขเป็นทั้งประเทศเลย ที่บอกว่าจะโตเท่านี้” เพราะอะไร 

เพราะนักวิชาการ สถาบันการเงิน  นักเศรษฐศาสตร์ แบงก์ชาติ องค์กรอิสระ สภาพัฒน์ฯ หน่วยงานของรัฐเอง ที่เป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดตัวเลขทางเศรษฐกิจ ต่างพูดตรงกันว่า ที่บอกว่าจะได้  ได้จริง  แต่มันได้ไม่คุ้มเสีย เพราะ ลงทุนกู้มา 5 แสนล้าน ถ้าคนมาใช้สิทธิ์ 100% ลงทุนกู้มา 5 แสนล้าน ก็คิดเป็น 3% ของจีดีพี  เท่ากับลงทุนกู้มา 3% ของจีดีพี แต่ผลที่ได้ ทุกหน่วยพูดตรงกัน จากการที่ กมธ. เศรษฐกิจ เชิญสภาพัฒน์มาชี้แจง เขาบอกว่าจะทำให้เศรษฐกิจ ปี 67 โต ได้แค่ 0.2% ปี 68  อีก 0.3  % รวมแล้วก็คือ 0.5 % หรือประมาณ 100,000 ล้าน  ก็แปลว่า ลงทุนไป 500,000 ล้าน ได้มา 100,000 ล้าน  ถ้าแถมให้ตามที่รัฐบาลประเมินว่าจะโต 1.5 % ก็น่าจะได้ประมาณ 250,000 ล้าน  ลงทุนไป 500,000 มันก็ยังได้ไม่คุ้มเสียอยู่ดี  

นอกจากนี้ มันยังมีค่าเสียโอกาส ถ้ารัฐบาลเอาเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาทนี้ ไปทำอย่างอื่นจะได้มากกว่านี้  เช่นเอาไปแจกกลุ่มเปราะบาง  ไปแจกคนจน  ซึ่งจะทำให้เขาใช้เงินทันที เศรษฐกิจหมุนเวียนทันที ไม่ไปเก็บไปยักไว้ และเอาเงินอีกก้อนที่เหลือ ไปใช้ลงทุนด้านอื่นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะได้ประโยชน์มากกว่า เช่น เอาไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างคนในระบบเศรษฐกิจ สร้างในระบบการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ และธุรกิจสมัยใหม่ ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม  เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ เพราะต่อไป อียู จะไม่ค้าขายกับประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม  สหรัฐฯ ก็จะไม่ค้าขายด้วย  ลูกค้ารายใหญ่ของเราจะไม่ค้าขายด้วย ทำไมไม่ลงทุนเตรียมไว้กับเรื่องเหล่านี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่เรากำลังเดินเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อีโคโนมี่ เหล่านี้มีความคุ้มค่ากว่าหรือไม่ แทนการกู้มาแจกเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

เพราะฉะนั้น “การกู้มาแจกแค่ 6 เดือน จึงเหมือนเป็นการโยนหินลงน้ำหนึ่งก้อน เกิดแรงกระเพื่อมจ๋อมเดียวแล้วก็หายไป แต่ที่จะเกิดตามมาก็คือพายุหมุน แต่เป็นพายุหมุนที่หมุนเอาหนี้ก้อนโตมาให้คนไทยต้องชดใช้ไปอีกนานเท่านาน” เข้าทำนอง “ประเทศเสียหายไม่ว่า ขอให้ข้าได้หาเสียง” ที่มีการพูดกันอยู่ในสภา 

สุดท้ายเรื่องความไม่โปร่งใส ตนยังไม่ขอพูดในรายละเอียด เพราะยังไม่ได้ลงมือแจก แต่ขอเตือนรัฐบาลให้ระมัดระวัง อย่าทำให้แรงกู้เที่ยวนี้กลายเป็นแรงกู้ไร้อนาคต  เพราะการทุจริตคอรัปชั่นเป็นอันขาด!  เพราะจนวันนี้ยังมีคำถามเดิมๆ จากประชาชนเพราะประชาชนสงสัยรัฐบาล เช่น 1. ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด ทำไมต้องซับซ้อนซ่อนเงื่อน   2. ทำไมไม่แจกผ่านแอพเป๋าตังที่คนไทย คุ้นชินอยู่แล้ว  3. ทำไมต้องแจกอายุ 16 ขึ้นไป  ทำไมไม่แจกตั้งแต่อายุ 13 เพราะอายุ 13 ก็ต้องเรียนต้องกิน ต้องใช้เหมือนกันแต่รัฐบาลยังไม่เคยพูดเรื่องนี้  แต่ตนช่วยตอบคำถามนี้แทนว่า ที่แจกอายุ 16 ขึ้นไป เพราะอีก 2 ปี อายุ 18 ลงคะแนนได้ แต่ถ้าแจกอายุ 13 อีก 4 ปี เพิ่งอายุ 17 ยังลงคะแนนไม่ได้ แจกไปก็เสียของ ตรงนี้จึงเป็นคำตอบ ว่าสุดท้ายแล้วที่แจกไปนี้เพื่อใคร 

มีคนถามอีกว่ารัฐบาลเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ตอนรัฐบาลเข้ามาใหม่ๆ ช่วงเดือนมกราคม มีการทำผลสำรวจ ถามว่าถ้ารัฐบาลยกเลิกโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ประชาชนจะโกรธหรือไม่  ประชาชนตอบตรงกัน 68.85% ว่า “ไม่โกรธเลย” ตนอนุมานเอาว่า ที่ประชาชนบอกว่าไม่โกรธเลย เพราะว่าขณะนั้นเศรษฐกิจยังพอไปได้ แต่ถ้ามาถามใหม่ ตนไม่แน่ใจว่า คำตอบอาจจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่เพราะประชาชนหันมาที่พิศวาสโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่เป็นเพราะ รัฐบาลนี้บริหารมาเกือบปี เกือบไม่เหลืออะไรให้ประชาชนหวังได้อีกแล้ว นอกจาก “น้ำข้าวต้ม ชื่อดิจิทัล วอลเล็ต ชามเดียว”  และเพราะเกือบปีที่ผ่านมา ผลงานรัฐบาล ตนไม่ขอสาธยาย บอกตรงๆว่า “สุดเห่ยจริงๆ” ทุกด้าน  

แต่มีสิ่งหนึ่งขอกราบเรียนก่อนจบสุดท้าย ก็คืออยากจะบอกสั้นๆ ว่า ขอให้รัฐบาลได้รับทราบ แม้จะเปลี่ยนไปใช้แอพ “ทางรัฐ” แต่ ดิจิทัล วอลเล็ต จะเป็นแค่ทางรอดของประชาชน คนจน และกลุ่มเปราะบางชั่วคราว เฉพาะกิจเท่านั้น แม้มันอาจจะเป็นทางรอดของบางพรรคการเมือง แต่ที่แน่นอน ไม่ใช่ทางรอดของประเทศ 

Share post:

spot_img

Related articles

อุ๊งอิ๊งค์ ถูกร้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ความเสี่ยงหลักเศรษฐกิจไทย

นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ชี้ อุ๊งอิ๊งค์ ถูกร้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ความเสี่ยงหลักเศรษฐกิจไทย ทำนโยบายสะดุดไม่ต่อเนื่อง

กำลังซื้ออ่อนแอเหตุ หนี้ครัวเรือน สูง

Krungthai COMPASS ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

อุ๊งอิ๊งค์ วันแรก ก็โดนเสียแล้ว

อุ๊งอิ๊งค์ วันแรก ก็โดนเสียแล้ว “อาปู กับ หลานอิ๊งค์ แตกต่างกันอย่างไร”

แนะรัฐบาลขึ้นภาษี VAT พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ 

อดีต รมว.คลัง แนะรัฐบาลใหม่ขึ้นภาษี VAT เพิ่มรายได้ประเทศแสนล้าน พาเศรษฐกิจพ้นหายนะ

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427