หน้าแรก การเมือง-สังคม เตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อรองรับการสมรสเท่าเทียม

เตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อรองรับการสมรสเท่าเทียม

0
เตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อรองรับการสมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 วุฒิได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้รับการประกาศและมีผลบังคับใช้ จะทำให้คู่รัก LGBTQ+ ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ประกอบด้วย 1) สิทธิในการตั้งครอบครัว 2) สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน 3) สิทธิทางทรัพย์สินและมรดก และ 4) สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต การปรับเปลี่ยนสถานะดังกล่าว ยังเชื่อมโยงถึงสิทธิตามกฎหมายอื่นที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากสวัสดิการข้าราชการ อาทิ สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด ขณะที่ สวัสดิการลูกจ้างภาคเอกชน คู่สมรสซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เงินสงเคราะห์จากกองทุนประกันสังคม และเงินค่าทำศพหากเป็นผู้ดำเนินการจัดการศพ รวมทั้งเป็นผู้รับประโยชน์จากการทำประกันชีวิตได้

นอกจากนี้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยังมีส่วนช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสมรส จากการศึกษาของ The William Institute สหรัฐอเมริกา พบว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของ Ipsos ปี 2566 คาดว่า ไทยอาจมีประชากร LGBTQ+ วัยผู้ใหญ่ ประมาณร้อยละ 9 หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 4.4 ล้านคน ซึ่งหากในจำนวนนี้ มีการสมรสในอัตราเดียวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิง อาจส่งผลให้ในแต่ละปีมีการจัดงานแต่งงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 หมื่นงาน หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1.7 พันล้านบาท และเป็นโอกาสในการเติบโตของหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน อีกทั้ง ยังส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านสังคม เช่น ความมั่นคงของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
จากการมีหลักประกันของการใช้ชีวิตคู่ และ การรับบุตรบุญธรรมอาจมีส่วนช่วยลดปัญหาเด็กโตนอกบ้านได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องเตรียมความพร้อมและดำเนินการภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ

1) การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของภาครัฐ จากการแก้ไข ที่ระบุให้บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่มีการอ้างถึงคำว่า “สามี” “ภริยา” ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตาม ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้มีกฎหมาย 51 ฉบับ ที่ต้องได้รับการทบทวน อีกทั้ง รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมด้านทะเบียน เอกสาร ใบสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวข้อง

2) การพิจารณาประเด็นเชื่อมโยงที่เป็นผลสืบเนื่องจากสิทธิ ที่คู่รักเพศหลากหลายได้รับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับบุตรบุญธรรม ที่ยังคงถูกจำกัดสิทธิ ค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียน แต่ยังคงได้รับสิทธิจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ซึ่งในบางครั้งไม่สามารถติดตามตัวได้ ทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิและเป็นภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่บุญธรรม จึงอาจต้องพิจารณา เพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมสามารถให้สิทธิแก่บุตรบุญธรรมได้

3) การเตรียมความพร้อมทางธุรกิจเพื่อรองรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย ต้องมีการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มนี้ เพื่อเตรียมกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งด้านสินค้าและบริการ และเป็นการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น อาทิ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย

4) การสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศให้กับสังคม ต้องมีการสร้างความเข้าใจ การเคารพต่อสิทธิ และความเห็นของแต่ละฝ่าย รวมทั้งต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในครอบครัว LGBTQ+ และอาจต้องมีการปรับปรุงวิถีปฏิบัติ อาทิ กิจกรรมงานวันพ่อ/แม่

และ 5) การเตรียมความพร้อมของงบประมาณ เพื่อรองรับการได้รับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอาจมีค่าใช้จ่ายการเบิกค่ารักษาพยาบาลของคู่สมรสข้าราชการมากขึ้น และการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของคู่สมรสและของบิดามารดาคู่สมรส


Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427