
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์ ฉบับที่ ๓
ด่วนที่สุด
วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๗
เรื่อง กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย (ฉบับที่ ๓)
เรียน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อ้างถึง ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖
ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๑) และฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๒) กรณีกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของท่านในเรื่องนี้ ดังนี้
๑. ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖
ปรากฏตามข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ)
รัฐบาลขณะนั้นมีเจตนาออกกองทุนรวมวายุภักษ์ ๒ กอง คือ กอง ๑ ที่เน้นเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ในขณะนั้น ส่วนกอง ๒ นั้น เน้นเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรสภาพ หุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ หรือสิทธิเรียกร้องที่กระทรวงการคลังอาจมีในอนาคต
กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ ขายแก่นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป โดยกำหนดผลตอบแทนที่แน่นอนไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ๑ ปีของธนาคารพาณิชย์บวกส่วนเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑ และรับประกันเงินต้นเต็มจำนวน จึงมีลักษณะเหมือนเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล
กองทุนรวมวายุภักษ์ ๒ ขายแก่นักลงทุนสถาบันลงทุนไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านบาทและบุคคลทั่วไปที่มีฐานะลงทุนไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาท โดยไม่มีการประกันขั้นต่ำทั้งเงินต้นหรือผลตอบแทน
จึงเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมวายุภักษ์ทั้ง ๒ กอง คือเพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและกิจการของรัฐเป็นสำคัญ และถึงแม้ในกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ ภาครัฐจะมีภาระในการประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ผลประโยชน์ก็วนไปตกอยู่ที่การลงทุนภาครัฐ
ส่วนหนังสือชี้ชวนสำหรับกองทุนฯ ปี ๒๕๖๗ มิได้ตีกรอบแคบเพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและกิจการของรัฐเป็นสำคัญ แต่ระบุว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หุ้นใน SET๑๐๐ กองทุนภาคเอกชนต่างๆ อาทิ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
แม้แต่หุ้นนอก SET๑๐๐ ตลอดจนถึงหลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Unlisted Securities) หรือตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non – Investment Grade) และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ไม่เกินร้อยละ ๑๐
รวมถึงอาจพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วย Private Equity
วัตถุประสงค์จึงมิใช่เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจหรือการลงทุนภาครัฐ แต่เพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างกว้างขวางในกิจการที่บางรายอาจจะมีประโยชน์ต่อคนต่างชาติ และขยายขอบเขตไปยังกิจกรรมที่เสี่ยงสูงเป็นพิเศษ
กรณีสำหรับปี ๒๕๖๗ จึงไม่มีเหตุผลที่กระทรวงการคลังจะต้องไปอุดหนุนจุนเจือค้ำประกันผลตอบแทนและเงินต้น เพราะการสนับสนุนการลงทุนในกิจการทั่วไปในเศรษฐกิจแบบวงกว้างเช่นนี้ จะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตลาดเงินตลาดทุนตามครรลองปกติ ส่วนรัฐไม่มีหน้าที่ไปแทรกแซง
นอกจากนี้ รัฐไม่ควรมีหน้าที่โปรโมทการลงทุนที่เสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เพราะภาคเอกชนสามารถทำงานนี้ได้เองอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้รัฐประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน
๒. เงื่อนไขให้ประโยชน์เอียงฝ่ายเดียว
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนนั้นให้ประโยชน์เอียงฝ่ายเดียว
๒.๑ ด้านผลตอบแทนประจำปี
กรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี ก็สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยอายุ ๑๐ ปีของพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดรองที่แสดงโดย Investing.com คือร้อยละ ๒.๕๕๒ ต่อปี ส่วนการที่กำหนดเพดานอัตราสูงสุดร้อยละ ๙ ต่อปี นั้น ก็มิใช่เงื่อนไขที่จะมีผลเป็นการจำกัดวงผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) เพื่อหวังจะให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้ผลตอบแทนส่วนที่เกินร้อยละ ๙ ต่อปีเป็นการชดเชย
เพราะอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย ๓ ปีโดยบริษัทในกลุ่ม SET๑๐๐ ตามข้อมูลในเว็บไซต์ของ SET ณ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ ก็อยู่ในระดับที่ต่ำเพียงร้อยละ ๑.๖๕ และถึงแม้จะเน้นไปที่กลุ่มบริษัทคุณภาพสูงเป็นพิเศษกลุ่ม SETHD ก็จ่ายปันผลเฉลี่ยร้อยละ ๘.๔๕ ดังนั้น ตามตัวเลขข้างต้น โอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะได้ผลตอบแทนส่วนที่เกินร้อยละ ๙ ต่อปีเป็นการชดเชย จึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
แต่เนื่องจากกองทุนปี ๒๕๖๗ มีแผนจะขยายขอบเขตไปในเรื่องที่อาจจะไม่มีรายได้ประจำปี ตัวอย่างเช่น การลงทุนในทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ และหน่วย Private Equity ดังนั้น ผลตอบแทนเบื้องต้นรายปีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะต้องถูกเบียดเบียนเอาไปชดเชย เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปี จึงอาจกระทบรายได้ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) อย่างมาก
หนังสือชี้ชวนยังระบุด้วยว่า ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ กองทุนนี้มีกำไรสะสม เท่ากับ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) อยู่ในขณะนี้
ซึ่งการระบุในหนังสือชี้ชวนเช่นนั้น เป็นการบ่งชี้เจตนาว่ากำไรสะสมจะถูกเอามาใช้ชดเชยเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ ๓ ต่อปีได้ กรณีจึงย่อมทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐได้รับความเสียหายด้านรายได้
๒.๒ ด้านคุ้มครองเงินต้น
เนื่องจากมีการขยายขอบเขตการลงทุนอย่างกว้างขวาง ความเสี่ยงขาดทุนเงินต้นจึงย่อมสูง ในหนังสือชี้ชวนระบุว่า “ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) (Waterfall Structure)
ในขณะที่ความผันผวนของราคาทรัพย์สินของกองทุนรวมจะถูกส่งผ่านมาให้หน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) จะรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมมีมูลค่าลดลง
ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนภายหลังจากที่ชำระคืนเงินลงทุนและผลตอบแทนตามสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) (คำนวณจนถึงวันที่มีการซื้อคืนหน่วยลงทุน) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) ครบถ้วนแล้ว”
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การคุ้มครองเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) น่าเชื่อว่าจะมีผลอย่างแน่นอน เหตุผลเนื่องจากกองทุนฯ มีทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) อยู่ขณะนี้มากถึง ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ซึ่งข่าวระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ)
ดังนั้น การที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (นักลงทุนทั่วไป) จะลงทุนในวงเงิน ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ว่าจะขาดทุนมีมูลค่าลดลงเพียงใด ก็สามารถที่จะเบียดเอาส่วนชดเชยจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทของผู้ถือหน่วยประเภท ข. (กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ) ได้ทั้งสิ้น
๓. ข้อเสนอแนะ
ในเมื่อท่านได้รับทราบปัญหาและข้อสังเกตเหล่านี้แล้ว ท่านมีหน้าที่จะต้องบริหารจัดการป้องปรามปัญหา ข้าพเจ้าขอเสนอแนะให้ท่านพิจารณาสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ที่เกี่ยวข้องทบทวนความจำเป็นเหมาะสมที่จะให้ผู้ลงทุนภาครัฐเข้าไปมีภาระประกันทั้งผลตอบแทนและเงินต้น เพราะโครงการมิใช่เพื่อสนับสนุนการลงทุนและกิจการของรัฐดังเช่นในปี ๒๕๔๖
กรณีถ้าหากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เป็นกระทรวงการคลัง ควรสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงต่อสาธารณะว่ารัฐบาลหรือกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ที่จะนำเอาทรัพย์ของแผ่นดินไปอุดหนุนเช่นนี้ตามกฎหมายใด
กรณีถ้าหากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ควรสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงต่อสาธารณะว่า ถ้าหากสมาชิกของกองทุนเหล่านั้นสูญเสียโอกาสหรือประโยชน์ที่พึงได้ รัฐบาลมีแผนการที่จะชดเชยเยียวยาให้เขาหรือไม่ อย่างไร
จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำเนาเรียน นายพิชัย ชุณวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


