ร่อนหนังสือถึงอึ๊งค์ ฉบับที่ 5 เตือน กองทุนวายุภักษ์ เสี่ยงผิดกฎหมาย

Date:

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องกองทุนวายุภักษ์ (ฉบับที่ ๕)

ด่วนที่สุด 

วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๗

เรื่อง  กองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ อาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย (ฉบับที่ ๕)

เรียน  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 

อ้างถึง หนังสือชี้ชวนกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑

 ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๑) และฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๒) ฉบับลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๓) และฉบับลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๗ (ฉบับที่ ๔) กรณีกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ ๑ (กองทุนฯ) วงเงิน ๑.๕ แสนล้านบาท ในวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายนนี้ และให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ ๑๘-๒๐ กันยายนนี้ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจจะฝ่าฝืนกฎหมาย นั้น 

ข้าพเจ้าขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของท่านในเรื่องนี้ ดังนี้

๑.   รายละเอียดเกี่ยวกับนักลงทุนสถาบัน

ในวงเงินที่เชิญให้จองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาทนั้น หนังสือชี้ชวนหน้า ๑๗ ระบุว่าแบ่งเป็นผู้ลงทุนรายย่อย ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม ๑๐๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท 

โดยในหน้า ๑๓ ผู้ลงทุนรายย่อย หมายถึงบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย รวมถึงกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยดังกล่าว  

ส่วนผู้ลงทุนสถาบันหมายถึง 

(ก) ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์ มูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) และกองทุนสวัสดิการของสำนักงาน คปภ. 

(ข) ผู้ลงทุนสถาบันที่มีลักษณะตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และ

(ค) กองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนตามข้อ (ก) หรือ (ข)

๒.   ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับผู้ลงทุนสถาบัน

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า คำว่า “เงินแผ่นดิน” ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓ – ๔/ ๒๕๕๗ คดีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเสนอร่างพระราชบัญญัติจะกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาทเพื่อใช้นอกระบบงบประมาณ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หน้า ๓๗ ซึ่งสรุปได้ว่า

“เงินแผ่นดิน” หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติโดยหมายความรวมถึงบรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ

ดังนั้น ในกองทุนฯ กำไรสะสมที่มีอยู่ขณะนี้ ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท และทรัพย์สินที่มีอยู่ขณะนี้ ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาท ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังนั้น เป็น “เงินแผ่นดิน” 

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะตามกฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง แต่เท่าที่ข้าพเจ้าตรวจสอบ ไม่พบมีการดำเนินการดังกล่าว และข้าพเจ้าเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงหลายครั้งแต่ไม่ได้มีการชี้แจง

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้แจ้งต่อท่านไว้แล้วในหนังสือ ๔ ฉบับก่อนหน้าว่ากติกาและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดนั้น จะเป็นการนำเงินแผ่นดินในรูปกำไรสะสม ๑๔๒,๗๓๘.๗๔ ล้านบาท และทรัพย์สิน ๓๕๓,๕๙๖ ล้านบาทไปจ่ายอุดหนุนให้แก่ผู้ถือหน่วยประเภท ก. ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมเพราะเป็นการเอาทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งเป็นคนทั้งชาติ ไปจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียว

แต่ปัญหาความไม่เป็นธรรมนี้ มีความรุนแรงขึ้นในกรณีผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยเหตุผลดังนี้

(๑) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโครงการที่กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินแผ่นดินไปเพิ่มผลตอบแทนและประกันเงินต้นแก่ผู้ที่ร่ำรวย

(๒) ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์หรือชุมนุมสหกรณ์ มูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงาน คปภ. กองทุนสวัสดิการของสำนักงาน คปภ. และกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนเหล่านี้ 

บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านการเงินมากพอที่จะพิจารณาเลือกความเสี่ยงในการลงทุนได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการประกันผลตอบแทนและประกันเงินต้น และไม่ต้องทำโครงการที่บริษัทหลักทรัพย์ทำได้เองอยู่แล้ว

(๓) การลงทุนโดยมูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงาน คปภ. และกองทุนสวัสดิการของสำนักงาน คปภ. รวมไปถึงกองทุนรวมทั้งหลายซึ่งถือเป็นผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน นั้น 

ล้วนมีการจ้างผู้จัดการกองทุนให้ทำหน้าที่บริหารการลงทุนโดยให้ค่าจ้างตามอัตราตลาด ซึ่งผู้จัดการกองทุนย่อมเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจที่จะพิจารณาเลือกความเสี่ยงในการลงทุนได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการประกันผลตอบแทนและประกันเงินต้น 

ดังนั้น โครงการนี้จึงกลับมีผลเป็นการจัดสรรแจกจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้จัดการกองทุนโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน 

(๔) สำหรับมูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา กรณีที่รัฐบาลประสงค์จะอุดหนุนแก่องค์กรที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั้น ก็ควรจัดทำงบประมาณให้เงินสนับสนุนอย่างตรงไปตรงมา

ข้าพเจ้ารับทราบว่าล่าสุดจะมีการแบ่งสรรวงเงินจองให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท จึงเข้าข่ายเป็นการเอาเงินแผ่นดินของคนไทยทั้งชาติไปอุดหนุนเพิ่มพูนประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนที่มีฐานะดีร่ำรวยอยู่แล้ว และเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดเงินตลาดทุนเป็นอย่างดีไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังจะต้องโปรโมทโครงการจูงใจที่บิดเบือนความเสี่ยงของตลาด และเป็นการอุดหนุนเพิ่มผลงานให้แก่ผู้จัดการกองทุนทั้งหลายโดยใช้ทรัพย์สินของแผ่นดิน

๓.   ขอให้แถลงจุดยืนของรัฐบาล

เนื่องจากกระทรวงการคลังได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อน ข้าพเจ้าจึงเรียกร้องให้ท่านโปรดพิจารณา และโปรดแถลงให้ประชาชนทราบว่า 

รัฐบาลของท่านสนับสนุนโครงการที่จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและการดำเนินการที่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องตามมาตรฐานจริยธรรม หรือไม่ 

และสนับสนุนการนำเอาทรัพย์สินของแผ่นดินไปอุดหนุนแก่กลุ่มคนที่มีฐานะดีของประเทศอยู่แล้ว หรือไม่

จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

Share post:

spot_img

Related articles

หนี้ครัวเรือนสูง กู้บ้านไม่ผ่านพุ่ง 80%

Property เจอหนี้ 10 ปี อสังหาไทยกลับไปไม่เหมือนเดิม มูลค่าบ้านแพงขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง กู้บ้านไม่ผ่านพุ่ง 80%

“กรุงไทย” ผนึก “ดูโฮม” บริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ลูกค้า

“กรุงไทย” ผนึก “ดูโฮม” ยกระดับบริการการค้าต่างประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงเป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่งหนังสือ สตง. สอบตั้ง กองทุนวายุภักษ์ ผิดกฎหมาย

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ส่งหนังสือ สตง. สอบตั้งกองทุนวายุภักษ์ ผิดกฎหมาย

IGC เอ็มโอยู LitUp Network ร่วมมือเสริมสร้างการเชื่อมต่อในประเทศไทย 

IGC  และ LitUp Network ลงนาม MoU เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายและสายเคเบิลใต้น้ำในประเทศไทยและอาเซียน

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427