“เผ่าภูมิ” สั่ง กรมสรรพสามิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Date:

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามอบนโยบายแก่กรมสรรพสามิต โดยมีอธิบดี คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย โดยต้องการให้กรมสรรพสามิตเป็นกลไกและรักษาสมดุลด้านภาษีระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ธรรมาภิบาล และรายได้การจัดเก็บ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. ยานยนต์ : ใช้กลไกภาษีกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมถึงการจ้างงาน โดยใช้ภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิต PHEV  BEV และ FCEV  ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์ ICE และ HEV ไว้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องกำหนดเวลาชัดเจน และให้แนวทางว่ากรมสรรพสามิตสามารถสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว ซึ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศได้

2. น้ำมัน : กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 6 ประเภท ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเบื้องต้นกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยต้องไม่ให้กระทบต่อราคาพลังงาน

3. สุขภาพประชาชน : ใช้กลไกภาษีเพื่อสนับสนุนการแพทย์เชิงป้องกัน ลดการบริโภคอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานแบบผสมต่อเนื่อง และเข้าสู่เฟส 4 ตามกำหนดเวลา ให้กรมสรรพสามิตศึกษาพิจารณากลไกภาษีโซเดียมในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม รวมทั้งภาษีไขมัน เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมและไขมัน ตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว

4. แบตเตอรี่ : ให้ศึกษาพิจารณาเปลี่ยนจากอัตราคงที่ 8% เป็นอัตราแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงปัจจัย Life Cycle และค่าพลังงานจำเพาะต่อน้ำหนัก รวมถึงชนิดของแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สะอาด อุตสาหกรรมรถยนต์ EV

5. บุหรี่ : ให้จัดเก็บภาษีแบบผสม โดยพิจารณาและศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว (Singler Rate) เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา โดยให้พิจารณาปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสนับสนุนผู้เพาะปลูกใบยาสูบในประเทศด้วย รวมทั้งดำเนินการระบบตรวจ ติด ตาม บุหรี่ โดยใช้ระบบ QR Code ในบุหรี่ เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนทั้งระบบ พร้อมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่เพื่อมั่นใจได้ว่าเป็นบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบโดยกรมสรรพสามิต

ดร. เผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) สะท้อนถึงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ภาษีเครื่องดื่ม ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8 ภาษีกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ (ไนต์คลับและดิสโกเธค) และภาษีสนามกอล์ฟ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.3 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ สำหรับการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ สูงขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 15.6 ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตขึ้นซึ่งในปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ 523,676 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปีก่อน 

นอกจากนี้ ด้านการปราบปรามนั้น ผลการปราบปรามเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 33,359 คดี สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 28.1 เงินค่าปรับนำส่งคลังจำนวน 690.75 ล้านบาท โดยเกิดจากการที่กรมสรรพสามิตได้ยกระดับการทำงานเชิงรุกในด้านการปราบปรามทั้งระบบ ทั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สืบค้นในทุกช่องทาง รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกองค์กร เพื่อจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้สินค้าหนีภาษีหลุดลอด เพราะอาจเป็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย จนส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตพร้อมขับเคลื่อนนโยบายและมาตรทางภาษีดังกล่าว ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการเดินหน้านโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อให้การดำเนินงานของกรมฯ สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยนำกลยุทธ์ EASE Excise มายกระดับการทำงานทั้งระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืนสืบไป

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ 

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่ เกาะร้อยไร่ สำเร็จ ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ

“บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด

กิจกรรมแก้หนี้เชิงรุก “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” สำเร็จเกินคาด ช่วย SMEs ลูกหนี้ที่ บสย. จ่ายเคลม “ปลดหนี้” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ประกาศจุดยืน “อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ร่วมเวที CEO Forum ประกาศจุดยืน "อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ" สู่อนาคต Net Zero

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย – ภูฏาน

“นายกฯแพทองธาร” เป็นสักขีพยานลงนาม FTA ไทย - ภูฏาน FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้