
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ระบุว่า
ก.ล.ต. หลังแอ่นกับ G-Token
มีข่าวว่า “นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. กำหนดให้ G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยย้ำว่า G Token ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means Of Payment) ได้
เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่อนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการเป็นการทั่วไปในลักษณะเดียวกับเงินบาท
และ ก.ล.ต. ก็ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MOP เช่นกัน
รวมทั้ง ก.ล.ต. มีกฎเกณฑ์เงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ ขณะที่ G Token ยังสามารถซื้อขายในตลาดรองได้ หากผู้ลงทุนต้องการขายก่อนครบกำหนดไถ่ถอน หรือผู้ลงทุนอยากซื้อเพิ่มก็ สามารถซื้อบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DAEX) ได้”
**ผมตั้งข้อสังเกตว่า ก.ล.ต.พยายามช่วยกระทรวงคลังแบบโก่งสุดตัวเพื่อมิให้ G Token เป็น “เงินตรา” อย่างหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าไม่มีผล
เพราะการที่ G Token จะเป็น “เงินตรา” หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาทางเศรษฐกิจ (substance over form) ไม่ใช่รูปแบบของกฎหมายหรือกติกาที่อ้างโดย ก.ล.ต.
ต้องเริ่มที่ G Token สามารถซื้อขายในตลาดรองได้ ซึ่งไม่ว่า ก.ล.ต. จะอ้างว่าสามารถมีเงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้
แต่ขอถามว่า ก.ล.ต. จะรู้ล่วงหน้าเพื่อกำหนดชื่อผู้รับซื้อได้อย่างไรว่า ว่าในการซื้อขายในตลาดรอง นาย ก. จะขาย G Token ให้แก่นาย ข. หรือแก่นาย ค. หรือแก่บุคคลอื่นใด
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าข้ออ้างเงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถบังคับโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ นั้น ไม่สามารถทำได้จริง
และถ้าหาก ก.ล.ต. เห็นว่าจะทำได้จริง ก็ขอช่วยอธิบายเหตุผลและวิธีการ
กรณีในเมื่อเงื่อนไข (Smart Contract) ที่สามารถบังคับโอนได้เฉพาะบุคคลที่ระบุไว้ นั้น ไม่สามารถทำได้จริง ในทางปฏิบัติแห่งโลกความจริง G Token ย่อมสามารถโอนแลกเปลี่ยนมือกันได้อย่างเสรี
ไม่ว่าในการซื้อขาย G Token ระหว่างนาย ก. กับนาย ข. หรือในการที่นาย ก. โอน G Token ให้นาย ข. เพื่อชำระหนี้หรือชำระค่าสินค้าโดยสำแดงเป็นทั้งสองรายทำการซื้อขายในราคาที่ตกลงกัน
หรือแม้แต่จะมีบุคคลหนึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่เป็นธุรกิจตัวกลางเพื่อหักบัญชีกันระหว่างนาย ก. กับนาย ข. เป็นระบบย่อยอยู่นอกระบบใหญ่
นอกจากนี้ ก.ล.ต. แถลงว่า “การสร้างราคา/ปริมาณซื้อขาย (market manipulation) ซึ่งผู้กระทำผิดจะมีโทษทางอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
นอกจากนี้ จะกำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผยราคาอ้างอิง (indicative price) ที่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยคำนวณจากเงินต้นและผลตอบแทน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ลงทุนและป้องกันการบิดเบือนราคา“
**ผมตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังโปรโมทว่า G Token เพื่อสนับสนุนให้ผู้ออมย่อยสามารถเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ
ผู้ออมรายย่อยเหล่านี้ โดยปกติเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการความเสี่ยง
แต่กระทรวงการคลังกลับผลักดันกลุ่มนี้ให้เข้าไปเป็นผู้ซื้อ G Token ที่เป็นตราสารดิจิทัลอันมีความเสี่ยงสูงขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ว่า ก.ล.ต. จะให้ความมั่นใจแน่นหนาอย่างไรว่า G Token จะไม่มีการปั่นราคา จะมีราคาอ้างอิง
แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาว่าโครงการนี้เป็นการชักนำผู้ออมรายย่อยที่ไม่ต้องการความเสี่ยง ให้เข้าไปเป็นผู้รับความเสี่ยง ทั้งที่เป็นความเสี่ยงสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคสูง
ก.ล.ต. แถลงข่าวด้วยว่า ”กระทรวงการ
คลังไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายต่อ ก.ล.ต. แต่จะต้องเปิดเผยข้อมูล G-Token ฯลฯ“
ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้กระทรวงการคลังจะไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.
แต่ไม่ได้หมายความว่า พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งตราขึ้นในปี 2561 ให้อำนาจกระทรวงคลังออก G-Token อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ ซึ่งตราขึ้น 13 ปีก่อนหน้าในปี 2548 ในขณะที่โลกยังไม่มีสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ทั้งนี้ ในหลักการและเหตุผลของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมทั้งมาตรา 17 ที่บัญญัติว่าผู้ออกโทเคนมีแต่เฉพาะเอกชน ก็เป็นที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ผู้ที่ยกร่าง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนารมณ์ ที่จะให้เป็นเครื่องมือในการบริหารหนี้สาธารณะ
จึงขอให้แง่คิดไว้แก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกคน