นโยบายทรัมป์ ซ้ำเติมความผันผวน ค่าเงินบาท

Date:

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองค่าเงินบาทในปี 2568 จะเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้นกว่าช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว จากบริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะการกีดกัดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยซ้ำเติมความผันผวนของค่าเงิน แนะการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยเตรียมพร้อมในการรองรับผลกระทบของความผันผวนได้บางส่วน เนื่องจากสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน ประกอบกับโครงสร้างการค้าของไทยที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าขายในภูมิภาคที่สูง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการที่พร้อมมากขึ้นสำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาพร้อมกับนโยบายกีดกันทางการค้ารอบใหม่ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินโลกอย่างมีนัย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งภาพดังกล่าวคาดว่าจะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเปิดปี 2568 ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าแตะระดับ 34.80 บาท ก่อนทยอยกลับมาเคลื่อนไหวทิศทางแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 33.60 บาท ขณะที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 33.66 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568) เคลื่อนไหวตามพัฒนาการและความคาดหวังของประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยนโยบายของทรัมป์ทั้งหมด แต่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ค่าเงินผันผวนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  จากความเสี่ยงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น และศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น  โดยมีรายละเอียด ดังนี้


ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนจาก “ลบน้อย” เป็น “ลบมาก” : บริบทดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และภาพดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องในปีนี้ หากมาตรการของทรัมป์ ส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ค้างในระดับสูง หรือการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้เฟด (Fed) ไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้มากเท่าที่คาด นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากกว่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าไทย

ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีบทบาทกับการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2561-2562 ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาพดังกล่าวจึงลามไปสู่ความความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและค่าเงินหยวนที่สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากเทียบกับภูมิภาค เงินบาทถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์ (Correlation)  กับสกุลเงินหยวนสูง ดังนั้น แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่เปราะบาง ตลอดจนผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจจีน จะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ลดลง และความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้า : ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่เปราะบาง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่การนำเข้าได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนราคาถูก ส่งผลต่อดุลการค้า ตลอดจนภาคการผลิตของไทย ในส่วนของการท่องเที่ยวไทยยังคงไม่ฟื้นตัวแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภาพดังกล่าวส่งผลต่อสัดส่วน ดุลบัญชีเดินสะพัด (CA : Current Account) ต่อ GDP ของไทยในช่วงหลังให้ต่ำลงจากในอดีต ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ เนื่องจากมีการเกินดุลกับสหรัฐฯ ในอันดับที่ 12 (ปี 2566) และกลุ่มสินค้าที่ขาดดุลกับสหรัฐฯ หลายหมวดมีความเกี่ยวข้องกับจีนสูง 

แนะการใช้เงินสกุลภูมิภาคในการค้าช่วยลดความผันผวนจากความไม่แน่นอนของทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า : จากทิศทางความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้นจากในช่วงอดีต ประกอบกับความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์ที่จะซ้ำเติมให้ค่าเงินมีความผันผวนยิ่งขึ้นในปี 2568 การใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้นำเข้าส่งออก อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนได้ดีในช่วงนี้ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า รวมถึงช่วยตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาความผันผวนที่สูงขึ้นของค่าเงินบาทในระยะยาว เนื่องจากเงินบาทเทียบกับสกุลภูมิภาคมีความผันผวนที่ต่ำกว่า ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนบริบทโครงสร้างการค้าไทยในปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนการค้าในภูมิภาคที่สูง ดังนั้น เมื่อค่าเงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน จะช่วยลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับในระยะหลัง ทางธนาคารกลางได้ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการเพิ่มสภาพคล่องเงินสกุลท้องถิ่นในประเทศ ปรับเกณฑ์ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนผลักดันการ Quote ราคาเงินสกุลท้องถิ่นเทียบเงินบาทโดยตรง 

ทั้งนี้ พบว่าโครงสร้างประเทศคู่ค้าในปัจจุบันเปิดโอกาสในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น จากข้อมูลการค้าปี 2567 ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับประเทศในภูมิภาคในเอเชียถึงร้อยละ 67.2 ซึ่งมีกลุ่มอาเซียนอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 20 ขณะที่สัดส่วนกับสหรัฐฯ มีเพียงร้อยละ 12.3 สวนทางกับสัดส่วนสกุลเงินที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศประมาณ 3 ใน 4 ที่ยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระค่าสินค้า อย่างไรก็ดี ทิศทางการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.3 เป็นร้อยละ 18.7 ในปี 2567 โดยในกลุ่มอาเซียนมีการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.9 เป็นร้อยละ 24.2  นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น พบว่า มีสัดส่วนการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ มาเลเซีย ที่พบว่ามีสัดส่วนการใช้เงินบาทและเงินริงกิตเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 14.9 เป็นร้อยละ 17.5

โดยสรุป การกลับมาของทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงินโลกและเพิ่มความผันผวน ซึ่งซ้ำเติมค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงอยู่แล้วตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ทั้งในรูปแบบ FX Forward และ Options ตลอดจนการใช้สกุลเงินภูมิภาค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน ประกอบกับโครงสร้างการค้าของไทยที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าในภูมิภาคที่สูง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการที่พร้อมมากขึ้นสำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

นายกฯ ยันไทยพร้อมรับมือ  สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าไทยสูง​ 36%

นายกฯ ยันไทยเตรียมพร้อมรับมือ มีแผนระยะสั้น-ยาว หลังสหรัฐฯเคาะภาษีนำเข้าไทยสูง​ 36% ​ ตั้งทีมเจรจา​ เชื่อยังต่อรองได้

ค่าเงินบาท “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” หลังทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าไทย

นายกฯ ยัน ไม่รีบดันร่าง “พ.ร.บ. กาสิโน” เข้าสภาฯ

นายกฯ ยัน ไม่รีบดันร่าง “พ.ร.บ. กาสิโน” เข้าสภาฯ ลั่น พยายามบริหารงานทุกทางไม่ให้เกิดความขัดแย้ง บอกยังมีเวลาทำความเข้าใจ

ส่งออกไทยเดือดร้อนหนักแน่แล้ว

ส่งออกไทยเดือดร้อนหนักแน่แล้ว หลังทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีไทย ภาษีฐาน 10% บวกภาษีตอบโต้อีก 36% รวมเป็น 46%