
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของปีงู ด้วยการเผชิญเรื่องร้อนๆ อย่างเต็มแรง และเสี่ยงเติบโตช้าลงช่วงครึ่งปีหลัง แต่สำนักวิจัยฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับการคาดการณ์ไปสู่ระดับ 2.3% จาก 2.0% จากแรงส่งที่แรงกว่าคาดของ GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 3.1% และส่งที่เติบโตได้ดี แต่หากพิจารณาสถานการณ์ไตรมาส 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 แล้ว ยากจะเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความเดือดดาลทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศค่อนข้างฉุดรั้งความเชื่อมั่น นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ปลายไตรมาส 3 และ 1.25% ปลายปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทน่าอยู่ที่ระดับ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้
เศรษฐกิจไทยชะงักงัน
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเติบโต 3.1% จากกรณีพิเศษ จึงไม่อยากให้ดีใจมากนัก ทั้งมาจากมาตรการแจกเงินภาครัฐ และการเร่งส่งออกไปสหรัฐก่อนมาตรการภาษี แต่ย่างเข้าไตรมาส 2 เริ่มเห็นความเสี่ยงปะทุเข้ามาจากปัจจัยสงครามการค้า ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสเทียบไตรมาสไม่น่าจะขยายตัวเลย แต่ไตรมาส 2 ปีนี้เทียบปีก่อน น่าจะขยายตัว 2.2% ซึ่งสภาพัฒน์ฯจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันลากยาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 แบบ YoY จะโตเพียง 1.1% และ 0.7% ตามลำดับ เป็นที่มาของการยืนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.8% เทียบปีก่อนที่ 2.5% แล้วปัจจัยเสี่ยงมาจากไหนบ้าง
แผ่นดินไหวทำการก่อสร้างทรุดลากยาว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวปลายมีนาคมส่งผลกระทบแรงกว่าที่คาด การก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมหยุดชะงักหรือแทบไม่มีโครงการใหม่ออกมาเลยในช่วงไตรมาส 2 และน่าจะลากยาวไปตลอดไตรมาส 3 ทั้งปัญหาความเชื่อมั่นการอยู่อาศัยในตึกสูง ความกังวลด้านความเสี่ยงสินเชื่อ ปัญหาผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง อุปทานส่วนเกินยังล้นตลาด อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น และกำลังซื้อต่างชาติที่เคยเป็นแรงหนุนของตลาดก็หดหายไปตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนด้วย ทั้งนี้ การก่อสร้างภาคเอกชนมีโอกาสหดตัวตลอดทั้งปี กระทบการจ้างงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ผู้ประกอบการหั่นราคาเพื่อระบายห้องชุดเพื่อตุนสภาพคล่อง กระทบราคาตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมและคุณภาพสินเชื่อในอนาคต จึงต้องระวังสงครามราคาที่อยู่อาศัย แต่จุดที่เป็นโอกาส คือคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าที่มีทำเลที่ดี ได้แก่ คอนโดมิเนียมใกล้แนวรถไฟฟ้าสายหลัก เช่น สายสีเขียว หรือสีน้ำเงิน หรือคอนโดมิเนียมตามโซนเมืองชั้นในและชั้นกลาง ที่ราคาน่าสนใจ เช่น ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต ก็พอสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ หรือหากลงทุนเพื่ออยู่อาศัยเองก็น่าหาแนวรถไฟฟ้าราคา 3-5 ล้านบาทต่อยูนิต ที่นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามราคารอบนี้แล้ว ปัญหาในการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้ก็จะค่อนข้างน้อยด้วย ส่วนกลุ่มบ้านแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเหมือนกับคอนโดมิเนียม แต่ตลาดเองก็กลับอยู่ในทิศทางที่หดตัวลงไม่ต่างกัน ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ที่ชะลอลงลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชน ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม หรือโกดังสินค้าอาจจะยังพอไปได้ ด้วยทิศทางของ FDI ที่โมเมนตัมดีต่อเนื่องจากปีก่อนและขยายตัวได้ในไตรมาสแรก นับเป็นความหวังของการก่อสร้างภาคเอกชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่อยู่อาศัย อยู่ในช่วงน่าเป็นห่วงและอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในเร็ววัน
ตลาดรถยนต์ใหม่ยังไร้ทางออก
ยอดขายรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 530,000 คันลดลงจาก 572,675 คันในปีก่อน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดตามปัญหาด้านเครดิตของผู้กู้ ขณะที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเพิ่มขึ้นที่ราว 14% ของรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 12% และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยอดขายรถยนต์ประเภทสันดาปหดตัวแรงกว่ารถ EV และต้องติดตามปัญหาสงครามราคารถ EV ว่าจะมีต่อเนื่องปีนี้หรือไม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ยอดขายรถยนต์สันดาปทั่วไปลดลงอีกได้จากการขาดแรงจูงใจเมื่อเทียบรถ EV ขณะที่ตลาดรถยนต์มือสองอาจเผชิญปัญหายอดขายซบเซา เนื่องจากคนเลือกที่จะใช้รถเก่านานขึ้นหรือเลื่อนการเปลี่ยนรถ ประกอบกับการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสในตลาดรถยนต์มือสองจากการที่คนหันมาซื้อรถยนต์มือสองในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปีแทนการออกรถยนต์ใหม่ ด้วยเหตุผลด้านกำลังซื้อ ตลาดนี้จึงมีโอกาสในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มที่มีเครดิตดีพร้อมกู้เท่าที่จำเป็น สำหรับประเภทรถยนต์มือสองที่มีศักยภาพ คือ รถยนต์นั่ง (Sedan) และรถตู้ (Passenger Van) ในพื้นที่หัวเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
การท่องเที่ยว – พระเอกที่หลบซีน
นักท่องเที่ยวจีนหายไปราว 33% ช่วง 5 เดือนแรก นักท่องเที่ยวมาเลเซียเริ่มลดลง แม้นักท่องเที่ยวอินเดียและรัสเซียจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่อาจชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ 34.5 ล้านคน ลดลงจาก 35.5 ล้านคน แม้รายจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่การท่องเที่ยวไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดตามด้วยพัทยาและเชียงใหม่ เพราะเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน ส่วนโซนภาคใต้ โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และสมุย น่าจะยังฟื้นตัวต่อได้ช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวยุโรป การที่รายได้ท่องเที่ยวแทบไม่เติบโต จะกระทบต่อกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง ค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งการแข่งขันและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มาตรการท่องเที่ยวเมืองรองทำได้เพียงประคองสถานการณ์ไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ หากเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ใช้จ่ายน้อย ก็พอจะชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จากจีนที่หายไปได้บ้าง และกลุ่มโรงแรมประเภทสามดาวหรือโรงแรมประเภทประหยัดน่าได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ดีน่าจะมาจากการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว สร้างความปลอดภัยในประเทศ ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดกับผู้กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยว พร้อมกับหาเส้นทางบินใหม่ๆ และลดข้อจำกัดด้านวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว
การเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที (2) การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า และ (3) ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น สำหรับทางออก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
ทรัมป์ป่วนโลก (อีกครั้ง)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและอีกหลายประเทศรอบใหม่ในเดือนกรกฎาคม เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐขาดดุลการค้า แม้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจะน้อยกว่าที่เคยประกาศไว้ในเดือนเมษายน ขณะเดียวกัน ทรัมป์น่าจะยังคงเก็บอัตราภาษีที่ 10% กับชาติที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางสินค้า ขึ้นอยู่กับการต่อรองแลกเปลี่ยนที่แต่ละประเทศจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทรัมป์น่าจะจัดเก็บภาษีสินค้าบางรายการในอัตรา 10-25% เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในประเทศและลดแรงจูงใจในการนำเข้า เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ยานยนต์และชิ้นส่วน หรืออาจครอบคลุมถึงกลุ่มเวชภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงหรือจัดเก็บภาษีสูงกว่าคาด อาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อไทยในฐานะประเทศในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีนหรือมีการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งจะกดดันภาคส่งออกไทยในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ทั้งนี้ ไทยน่าเร่งขยายตลาดการค้าใหม่ กระชับความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน และใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐ ขณะเดียวกัน ไทยสามารถใช้อาเซียนต่อรองกับจีนในการลดการใช้ไทยเป็นทางผ่านของสินค้าส่งออกไปสหรัฐ โดยที่ไทยไม่ได้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้ามากเท่าที่ควร ดังเห็นได้จากดัชนีภาคการผลิตของไทยต่ำ ฟื้นตัวได้น้อย ต่างกับการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีและการนำเข้าเร่งตัวขึ้นสูงตาม มองต่อไป คาดว่าส่งออกจะเริ่มขยายตัวต่ำช่วงไตรมาส 3 และพลิกไปหดตัวในช่วงไตรมาส 4 ส่งผลให้ทั้งปี การส่งออกขยายตัวได้เพียง 3.5%
อิหร่านเอาคืน
ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลและชาติพันธมิตร แม้จะบรรเทาลง แต่หากไฟสงครามปะทุขึ้นอีกก็อาจกดดันให้ราคาน้ำมันผันผวน เกิดเป็นแรงกดดันใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางยืดเยื้อและส่งผลให้การขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซถูกกระทบจริง ก็อาจเกิดภาวะช็อกด้านอุปทานที่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งสูงอีกระลอก สร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการและเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศชะลอลง ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย จะเผชิญทางเลือกที่ยากลำบากระหว่างการคงดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากต้นทุนน้ำมัน กับความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
กนง. ตรึงดอกเบี้ยไม่อยู่
นโยบายดอกเบี้ยของไทยอยู่ในภาวะที่ท้าทายอย่างมาก แม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมาต่อเนื่อง แต่ กนง. ยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลเรื่องการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวและความจำเป็นในการสะสม “ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย” เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการผ่อนคลายนโยบายอาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าในเอเชียหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง สำนักวิจัยฯ มองว่า ธปท. ควรพิจารณาน้ำหนักของเศรษฐกิจจริงมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างและความเสี่ยงภายนอกกำลังกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคมและลดอีกครั้งเหลือ 1.25% ในรอบการประชุมธันวาคม
บาทอ่อนสะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ
แนวโน้มค่าเงินบาทไตรมาส 3 ยังคงผันผวนท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ แม้ที่ผ่านมาเงินบาทจะอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและตะวันออกกลาง แต่เมื่อดูจากต้นปี 2568 จะพบว่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนการที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์สหรัฐจากนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ ขณะเดียวกัน เงินบาทได้แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในบางจังหวะ หากราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไทยเป็นผู้ค้าทองคำ โดยเมื่อราคาทองสูงขึ้น ผู้ค้าทองจะส่งออกมากขึ้นและรับเงินดอลลาร์กลับเข้ามาในระบบ ส่งผลให้เกิดแรงซื้อเงินบาทในตลาดเงินชั่วคราวและทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วโดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น คาดว่าไตรมาส 3 เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าได้เล็กน้อยเทียบดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลด้านสงครามการค้า ประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปีนี้
สรุป – เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะถดถอยไหม
เศรษฐกิจไทยปีงูเผชิญแรงกดรอบด้านเดือดดาลเหมือนงูไฟ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ซบเซา นักท่องเที่ยวหาย การบริโภคแผ่ว ตลาดยานยนต์ซึม กำลังซื้ออ่อนแอ สินเชื่อหดตัว อัตราดอกเบี้ยสูง เงินบาทแข็งกระทบส่งออก การเมืองสั่นคลอน ปัจจัยต่างประเทศร้อนแรง ในฉากทัศน์นี้ กรณีฐาน (Base case) คาด GDP ปีนี้โตแค่ 1.8% เข้าข่ายเศรษฐกิจชะงักงัน และอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หาก GDP หดตัวต่อเนื่องสองไตรมาสติดใน Q3 และ Q4 โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหนักกว่าคาด เช่น สงครามน้ำมัน ราคาน้ำมันพุ่ง หรือการเมืองไทยยืดเยื้อ ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำสุดเหลือเพียง 1.4% กรณีดีที่สุด (Upside) หากส่งออกฟื้น มาตรการกระตุ้นกระจายตัวได้จริง การเมืองไม่ป่วน และน้ำมันลดราคา GDP มีโอกาสโตได้สูงสุดราว 2.3%
“ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ” ดร.อมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย