
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการหารือประเด็นและข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
1. ประเด็นการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่องการทยอยขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท นั้น กกร. มีความเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขั้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึง การครองชีพของลูกจ้าง รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ฯลฯ
การพิจารณาปรับค่าแรงจึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2554 ที่ถึงแม้จะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกโดยเฉพาะ SME ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน ขณะเดียวกันหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328 – 354 บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน
ขณะเดียวกันปีหน้า SME ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่
เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และ ภาคบริการ ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ SMEs หยุดหรือยกเลิกกิจการเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ แรงงานที่มีทักษะสูงในปัจจุบัน ต่างมีค่าจ้างที่สูงและมีความ
เหมาะสมอยู่แล้ว จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานที่ยังคงมีทักษะไม่สูงมากนัก และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันควบคู่ไป และควรคำนึงถึงแรงงานที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เนื่องจากแรงงานปัจจุบันไทยอาศัยแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ความมุ่งหวังของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทยมากเท่าที่ควร
แต่อย่างไรก็ตาม กกร.ยังเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะของสถานการณ์เศรษฐกิจ และขึ้นอย่างมีขั้นมีตอนยังคงมีความจำเป็น หากได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ การปรับขึ้นค่าจ้างควรมีความสอดคล้องกับการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) และการพัฒนาทักษะ (Up-skill and re-skill) ของลูกจ้าง รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความสมดุลของค่าจ้าง ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง และควรอยู่บนพื้นฐานของทักษะ องค์ความรู้ และประสิทธิภาพของแรงงาน (Pay by Skill) รวมถึงการจูงใจให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความสามารถ ในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม เพื่อให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ
2.ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเข้าสู่ระดับปกติตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก จึงมีความเห็นว่านโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการออมเงินของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะพิจารณาและเสนอแนวทางการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
3.กกร. มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ กกพ. ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นแนวทางการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ทั้ง 3 แนวทาง ตั้งแต่ 158 – 224 สตางค์/หน่วย (เพิ่มขึ้น 14-28%) ซึ่งกรณีมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาชะลอการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ออกไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากแนวโน้มราคาค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าในปี 2566 ตามข้อมูลจาก กกพ. จะมีแนวโน้มชะลอตัวและลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สอดคล้องกับการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่จะสามารถกลับมาผลิตได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ก็จะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ