ธนาคารกรุงเทพ จับมือ ธนาคารเพอร์มาตา จัดสัมมนาออนไลน์

Date:

นักธุรกิจชั้นนำ ในฐานะผู้ร่วมอภิปรายในงานสัมมนาออนไลน์ “ปรับตัว-เตรียมพร้อมรับความท้าทายในปี 2566” (Gearing Up – Getting ready for challenges in 2023) ที่ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับธนาคารเพอร์มาตา จัดขึ้น ต่างเห็นพ้องว่า “นักธุรกิจชั้นนำและนักลงทุนควรนำแนวคิด ‘Never Normal’ มาปรับใช้เพื่อนำเอากระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในยามที่ต้องเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจ”

นักธุรกิจชั้นนำ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย (Capital A) นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู และนายปานดู พาเทรีย ชะฮ์รีร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เอซีเวนเจอร์ และกรรมการตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ดำเนินรายการ

สำหรับการสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดีของอาเซียน จะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ และการหยุดชะงักด้านพลังงานและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้อย่างไร

ผู้ร่วมอภิปรายแนะนำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารการเงินด้วยความรอบคอบระมัดระวังควบคู่กับหลักธรรมาภิบาล โดยได้ระบุตัวอย่างธุรกิจที่สามารถสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ในภูมิภาคได้ เช่น ภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานรายใหญ่ของไทยกล่าวว่า “ขณะนี้ทุกคนอยู่ในยุค ‘Never Normal’ เนื่องจากไม่มีคำว่าสถานการณ์ปกติอีกต่อไป เพื่อการเติบโตในระยะยาว บริษัทต่าง ๆ จะต้องรวมมุมมองของ ‘Never Normal’ เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อนำเอากระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตน”

นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า “ปัจจุบัน อาเซียนคือศูนย์กลางการผลิตระดับสากล โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ภูมิภาคนี้กำลังยกระดับกระบวนการผลิตไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ การพิมพ์ 3 มิติ และการปรับกระบวนการของอุตสาหกรรมด้วยระบบดิจิทัล สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนในการขยายธุรกิจ กระจายห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเครือข่ายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการกระจายความเสี่ยง เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ที่สร้างความยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ”

นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย (Capital A) กล่าวว่า “กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียเตรียมพร้อมรับความท้าทายโดยเน้นการสร้างรายได้และลดต้นทุน ด้วยการสร้างรายได้จากค่าโดยสารและรายได้อื่น ๆ เพื่อรักษาระดับกระแสเงินสดให้เป็นบวก”

“ผมมองเห็นโอกาสใน 2 ด้าน สำหรับกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย ด้านแรก ได้แก่ การขนส่งที่ได้รับผลดีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่ดียิ่งขึ้นให้กับธุรกิจขนส่งและสายการบินแอร์เอเชีย ด้านที่สอง ได้แก่ การที่บริษัทด้านดิจิทัลของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียที่ในอดีตต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่สมเหตุสมผล จากการอัดฉีดเงินทุนจำนวนมากจากนักลงทุน แต่หลังจากภาวะฟองสบู่แตกของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ทำให้ต้นทุนของบริษัทเทคโนโลยีต้องปรับตัวลดลง บริษัทที่เคยดำเนินงานโดยไม่มีตรรกะทางธุรกิจจำต้องปรับตัวเปลี่ยนมาดำเนินงานอย่างยั่งยืน ด้วยการประเมินราคาที่เหมาะสมอย่างแท้จริง”

นายปานดู พาเทรีย ชะฮ์รีร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเอซีเวนเจอร์ และกรรมการตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ยอมรับว่า บริษัทเทคโนโลยีจะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อไปในอนาคตและย้ำถึงความจำเป็นของธรรมาภิบาล เขากล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แม้ว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับบริษัทเทคโนโลยี แต่ยังมีโอกาสสำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจหลัก การสร้างทีมงาน และการสร้างวัฒนธรรมด้านธรรมาภิบาล”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า “ธนาคารกรุงเทพเชื่อว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความปลอดภัยจากมรสุมใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่อาเซียนกำลังฟื้นตัวและเติบโตได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่นของโลกและประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ โดยประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม กำลังเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะที่อาเซียนกำลังก้าวสู่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2573 จากสภาวะตลาดที่มีความหลากหลาย ศักยภาพของประชากร ความแพร่หลายของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ความแข็งแกร่งของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียนเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวมและธนาคารไทยที่มีเครือข่ายในต่างประเทศมากที่สุด และธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงเทพ และ 1 ใน 10 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ปรับตัว-เตรียมพร้อมรับความท้าทายในปี 2566” (Gearing Up – Getting ready for challenges in 2023) ในวันนี้ (13 ธันวาคม 2565) เป็นงานที่ทั้งสองธนาคารได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและเครือข่ายระดับภูมิภาคของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นของผู้นำจากองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มธุรกิจของอาเซียน วิธีจัดการกับความท้าทายและสร้างโอกาสทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย

ท่านสามารถรับชมบันทึกงานสัมมนาออนไลน์ “ปรับตัว-เตรียมพร้อมรับความท้าทายในปี 2566” (Gearing Up – Getting ready for challenges in 2023) ที่ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารเพอร์มาตา ร่วมกันจัดขึ้นได้ที่ https://youtu.be/3q_ra5DNJQk

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

ออมสิน ให้ลูกค้าชำระหนี้ดีรายละ 1,000 บาท

ออมสิน มอบของขวัญปีใหม่ 2568 ให้ลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ดีรายละ 1,000 บาท

ส่งออกไทย ปี 2568 ชะลอ

ส่งออกไทย ในปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และอาจกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า

ทักษิณ คุณเป็นใคร???

“เทพไท เสนพงศ์” ถาม ทักษิณ คุณเป็นใคร???

กมธ.พิจารณาแก้กม.ยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากรายได้ 1.8 ล้าน เป็น 5 ล้าน

อนุกมธ.วุฒิสภาเปิดรับฟังความเห็นผู้ประกอบการหนุนแก้กฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านเพิ่มเป็น 5 ล้าน