กระทรวงเกษตรลุยฟื้นผลผลิตกุ้งทะเล เป้า 4 แสนตันปี

Date:

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญหรือ “ครัวของโลก” โดยยึดหลัก อาหารปลอดภัย (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และความยั่งยืนยัน (Sustainability) ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า และวางแผนรับมือสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ

ในส่วนของผลผลิตกุ้งทะเล ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตเป็นอันดับห้าของโลก แต่ด้วการระบาดของโรคตายด่วนในปี2564 ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก เหลือเพียง 2.54 แสนตัน จากที่เคยอยู่ที่ 2. 8 แสนตัน เฉลี่ยสามปีก่อนหน้า ดังนั้น นายเฉลิมชัยฯ จึงได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศ ในพื้นที่ 35 จังหวัด โดยตั้งเป้าปี 2566 ไว้ที่ 4 แสนตัน

ทั้งนี้ กรมประมงได้ดําเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ความสําคัญกับการจัดการข้อมูลเพื่อการบริหารแบบรอบด้าน ครอบคลุมการกำหนดแผนเชิงรุก นโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีความเสี่ยงต่างๆ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดกุ้ง การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตกุ้งทะเล การฟื้นฟูพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเสื่อมโทรมร่วมกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม การจัดหาแหล่งเงินทุนสําหรับเกษตรกร การส่งเสริมและหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลผลิตกุ้งทะเลที่เพิ่มขึ้น

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดีย ทางกรมประมงยืนยันว่าไม่กระทบต่อราคากุ้งในประเทศ เพราะเป็นการอนุญาตให้เฉพาะช่วงเวลาที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอการแปรูปเท่านั้น โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะต้องรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ – ขายขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไว้ ทั้งนี้ มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทางกรมฯได้ดำเนินการอย่างรัดกุม มีการประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนอย่างเด็ดขาด

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกร และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดกลไกขับเคลื่อนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลไทย ตั้งเป้า 4 แสนตันในปี 2566 ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) และคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ครอบคลุม 35 จังหวัดที่มีการเลี้ยงกุ้งทะเล มุ่งเป้าเกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโต และเมื่อเราสามารถเพิ่มผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูป ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศอีกต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว

Share post:

spot_img
spot_img

Related articles

กรุงเทพประกันภัย จัดพิธีทำบุญในโอกาสครบรอบ 78 ปี

กรุงเทพประกันภัย จัดพิธีทำบุญในโอกาสครบรอบ 78 ปี พร้อมกับพิธีรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้บริหาร เพื่อสืบสานประเพณีไทย

อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย เชิดชูอู่ซ่อมและผู้สำรวจภัยคุณภาพเยี่ยม

อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย เชิดชูอู่ซ่อมและผู้สำรวจภัยคุณภาพเยี่ยม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านบริการเป็นเลิศ

อลิอันซ์ อยุธยา มอบความรู้การลงทุนสำหรับลูกค้าคนพิเศษ

อลิอันซ์ อยุธยา จัดงาน "MY STYLE CLUB Special" มอบความรู้การลงทุนสำหรับลูกค้าคนพิเศษ

อลิอันซ์ อยุธยา ร่วมหาทางสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพไทย

อลิอันซ์ อยุธยา จับมือคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีเสวนาระดับประเทศ ร่วมค้นหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพไทย