ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นโลก โดยดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนที่รวมส่วนต่างราคาและเงินปันผล(Total Return) อยู่ที่ 26.29% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ในขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI ACWI และ MSCI World ในปี 2566 ซึ่งเป็นตัวแทนของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก อยู่ที่ 22.20% และ 23.79% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียด ผลตอบแทนในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 บริษัท ที่ถูกเรียกว่าเป็น “หุ้น 7 นางฟ้า” ได้แก่ Apple, Amazon, Alphabet, NVIDIA, Meta, Microsoft และ Tesla โดยหุ้นกลุ่มนี้ ให้ผลตอบแทนรวม 78.09% คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนที่ทำให้ (% Return Contribution) กับ S&P500 ที่ 15.32% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลตอบแทน S&P500 ทั้งปี และหากไม่นับรวม 7 บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ใน S&P500 ให้ผลตอบแทน 12.30% หรือคิดเป็น % Return Contribution ให้ S&P500 รวมกัน 10.97% เท่านั้น 2) ตลาดปรับตัวขึ้นแบบกระจายตัวทั้งตลาด แค่ช่วงไตรมาสที่ 4/2566 สาเหตุหลักมาจาก Fed ส่งสัญญาณผ่อนคลายการปรับดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ลดลงอย่างรวดเร็วและดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีหุ้นเทคโนโลยี ที่เติบโตโดดเด่น แต่ SCB CIO เริ่มมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ น้อยลง โดยเราคาดว่า การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วง “soft landing” หรือชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราการเติบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 3/2566 และจะเริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลง นับตั้งแต่ ไตรมาส 4/2566 – ไตรมาส 2/2567 ก่อนจะกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ นักวิเคราะห์เริ่มปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในระยะถัดไปลง หลังผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มให้มุมมองเป็นลบ (Negative Guidance) มากขึ้น
นอกจากนี้ มูลค่าเริ่มตึงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตในปี 2567 และ การปรับปรุงมูลค่าใหม่ (Re-rating Valuation) มีความเป็นไปได้จำกัด เราตั้งข้อสังเกตว่า นักวิเคราะห์ที่ให้ราคาเป้าหมายระดับสูง ประมาณการ การเติบโตของกำไรต่อหน่วย (EPS) ของ S&P500 เฉลี่ยที่ 8.6% และ ให้ราคา 12-Month Forward Price-to-Earnings เฉลี่ย ที่ระดับ 21.1 เท่า ซึ่งเรามองว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขณะที่ การประเมินราคา และอารมณ์ของตลาด (Pricing & Market Sentiment) เข้าสู่โซน “Greed” คือ เปิดรับความเสี่่ยงจากความคาดหวังที่สูง
ขณะที่ กิจการที่มีความสามารถทำกำไรดี ถูกให้มูลค่า “Premium” พอสมควรแล้ว โดยในปี 2566 ตลาดคาดการณ์กำไร S&P500 จะไม่เติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) แต่จะเห็นการเติบโตที่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่ม Quality Growth อย่าง “หุ้น 7 นางฟ้า” ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 33%YoY ขณะที่ S&P 500 คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรอยู่ในช่วง 0-1%YoY อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้ความสามารถในการทำกำไรที่ดีกว่าของกลุ่มบริษัทนี้ไปพอสมควรแล้ว เห็นได้จากการกระจุกตัวของมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap.) กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี เทียบกับ S&P500 ที่สะท้อนว่าตลาดให้มูลค่า Premium ของกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับใกล้เคียงกับในช่วงฟองสบู่ดอทคอม หรือ Tech Bubble ปี 2543
ดร.กำพล กล่าวว่า จากเหตุผลทั้งหมดนี้ เราจึงปรับคำแนะนำตลาดหุ้นสหรัฐฯ จาก Slightly Positive (ทยอยลงทุน) เป็น Neutral (ถือ) เนื่องจาก Valuation มีความตึงตัวมากขึ้น และโอกาสการปรับตัวขึ้น (upside) จำกัดมากขึ้นหลังดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลา 9 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่า นักลงทุนได้ Pricing การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไปในดัชนีฯ ค่อนข้างมากแล้ว โดยคาดว่าจะลดประมาณ 6 ครั้งในปี 2567 จากการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ในมุมมองของ SCB CIO ยังมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3/2567 ทั้งหมด 3 ครั้งในปี 2567 ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น มีโอกาสเผชิญความเสี่ยงของการปรับฐาน หากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ไม่เป็นไปตามตลาดคาด หรือ การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้ม Soft landing และตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่ง ด้วยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีองค์ประกอบของหุ้น “High Quality” ที่มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว เป็นสัดส่วนที่มาก เราจึงแนะนำให้รอโอกาส หาจังหวะสะสม เมื่อ Valuation ตึงตัวลดลง และมีระดับราคาที่ถูกลงมากกว่านี้