เปิดทฤษฎี “Mechanism Design” ผลลัพธ์เป็นที่ตั้งก่อนออกแบบวิธีการ

Date:

เมื่อเรานึกถึงเศรษฐศาสตร์ เรามักจะนึกถึงทฤษฎีส่วนใหญ่ที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมที่เป็นอยู่ แล้วคาดการณ์ผลลัพธ์ต่าง ๆ ไปข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์หรือแก้ไขประเด็นทางนโยบายสำคัญ ๆ ในหลายบริบท โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การประเมินภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและมองไปข้างหน้าเพื่อดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม การวิเคราะห์ภาวะหนี้สินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตามในหลายบริบทแนวทางดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดหากมีข้อมูลไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถเข้าใจปัญหาและแรงจูงใจของผู้มีส่วนได้เสียต่างได้ครบถ้วนหรือในบางบริบทมีผู้มีส่วนได้เสียที่มีแรงจูงใจหลากหลายทำให้ไม่สามารถออกแบบนโยบายที่ตอบสนองต่อแรงจูงใจที่หลากหลายเหล่านั้นและเกิดข้อจำกัดในการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิผล เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะที่ทุกคนจะได้ประโยชน์หากมีใครคนใดคนหนึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ทำให้อีกคนขาดแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องทำอะไรเลย (free rider) โจทย์หรือประเด็นทางนโยบายในลักษณะนี้จึงไม่สามารถใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ข้างต้นมาตอบหรือแก้ไขได้

Professor Eric S. Maskin ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2007 ได้นำเสนอแนวคิด “Mechanism Design” ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่ตั้งต้นจากผลลัพธ์ที่ต้องการหรือยึดเป้าหมายเป็นตัวตั้งก่อนจากนั้นจึงค่อยกลับมาออกแบบกลไกหรือวิธีการในการสร้างแรงจูงใจของผู้มีส่วนได้เสียต่างให้สอดประสานกันเพื่อให้สามารถไปถึงผลลัพธ์หรือเป้าหมายดังกล่าวได้โดยคุณูปการหลักของแนวคิดนี้คือ กลไกดังกล่าวจะช่วยให้ Mechanism Designer เช่น ภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมายได้ แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้เข้าใจแรงจูงใจที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียก็ตาม

Professor Maskin ได้ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในบริบทของการจัดสรรทรัพยากรภายในครอบครัว เช่น หากคุณแม่ต้องการแบ่งขนมเค้กให้ลูกสองคนพึงพอใจ คือ ยอมรับร่วมกัน และมีความเป็นธรรม (fair division) โดยยึดเอาเป้าหมายว่า ลูกแต่ละคนต้องได้เค้กอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง คุณแม่จึงตัดเค้กนั้นอย่างเท่า ๆ กันในมุมมองของเธอ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของลูกคนแรกอาจไม่ได้คิดว่าคุณแม่แบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม และคิดว่ายังได้เค้กชิ้นเล็กกว่าน้อง ความท้าทายต่อคุณแม่ คือ การไม่มีข้อมูลของลูก ๆ ทั้งสองคนว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไร จึงไม่รู้ว่าต้องแบ่งเค้กอย่างไรให้เกิด fair division โดยแท้จริง ดังนั้น คุณแม่สามารถนำ Mechanism Design เข้ามาช่วยได้ กล่าวคือ ออกแบบวิธีการให้ลูกคนแรกตัดเค้กออกเป็น 2 ชิ้น ขณะที่ให้ลูกคนที่สองเป็นคนเลือกชิ้นที่ตัดนั้นก่อน วิธีการนี้จะทำให้เกิด fair division เนื่องจากลูกคนแรกจะตัดเค้กให้เท่า ๆ กันในมุมมองของตัวเอง โดยไม่ว่าลูกคนที่สองจะเลือกเค้กชิ้นใด ลูกคนแรกก็จะยังคงพึงพอใจ ขณะที่ลูกคนที่สองก็พึงพอใจ เพราะได้เลือกเค้กที่ตนพึงพอใจก่อนพี่เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้ Mechanism Design ในการออกแบบกติกาการแบ่งเค้กในครั้งนี้ทำให้บรรลุจุดประสงค์ของคุณแม่โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามุมมองของลูกแต่ละคนเกี่ยวกับ fair division นั้นเป็นอย่างไร

อีกตัวอย่างของการใช้ Mechanism Design เช่น การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม โดยภาครัฐมีเป้าหมายคือ ต้องการให้คลื่นความถี่อยู่ในมือของบริษัทที่ให้คุณค่าสูงที่สุด (เป็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด) แต่ภาครัฐไม่ทราบว่าแต่ละบริษัทที่เข้ามาประมูลนั้นให้คุณค่าต่อคลื่นความถี่อย่างไร ทั้งนี้ การประมูลในรูปแบบทั่วไปที่ให้ผู้ชนะการประมูลชำระเงินด้วยราคาสูงสุดในการประมูล ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ผลลัพธ์ของการประมูลจะได้บริษัทที่ให้คุณค่าสูงสุดได้จริง เพราะแต่ละบริษัทผู้ประมูลจะมีแรงจูงใจในการเสนอราคาต่ำกว่าที่ตนเองให้คุณค่าไว้ อย่างไรก็ดี ภาครัฐสามารถใช้ Mechanism Design โดยออกแบบให้ผู้ชนะการประมูลชำระเงินด้วยราคาที่ชนะการประมูลเป็นอันดับสอง (second-highest bid) เพื่อจะช่วยจูงใจให้บริษัทเสนอราคาได้ตรงตามความเป็นจริงที่สุด คือ ไม่น้อยเกินไป (เพราะจะทำให้ประมูลไม่สำเร็จ) และไม่มากเกินไป (เพราะจะทำให้ต้องจ่ายเงินสูงเกินกว่าที่ให้คุณค่าไว้) ซึ่งจะทำให้ได้บริษัทที่ให้คุณค่าสูงสุดต่อคลื่นความถี่เป็นผู้ชนะการประมูล 

ด้วยคุณูปการของ Mechanism Design ข้างต้นแนวคิดนี้จึงมีความสำคัญมากขึ้นในบริบทโลกใหม่ซึ่งต้องการการคิดใหม่ทำใหม่ในการออกแบบกฎกติกาให้มีประสิทธิผลเช่น การบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำกับดูแลตลาดการเงินเพื่อป้องกันวิกฤตและส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงิน การออกแบบระบบการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมสำหรับบริบทของแต่ละประเทศ

ท้ายที่สุด Mechanism Design เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ออกแบบกลไกหรือวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สังคมตกลงกันหรือผู้กำหนดนโยบายได้กำหนดไว้ แต่ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกเป้าหมายนอกจากนี้ ในกรณีที่เป้าหมายที่สังคมต้องการบรรลุมีความซับซ้อน กลไกหรือวิธีการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายย่อมมีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาสมดุลที่ดีระหว่างประสิทธิภาพของกลไกในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายกับความง่ายของกลไกเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ (ตามที่ Professor Maskin ใช้คำว่า robust mechanism design) และที่สำคัญ เมื่อนำกลไกมาใช้จริงแล้ว หัวใจที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมายได้ คือ ความมุ่งมั่น (commitment) ในการใช้กลไกโดยไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหากเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการในที่สุด

Share post:

spot_img

Related articles

“ธนกร” ลั่น ไม่รวม ม.112 ในร่างนิรโทษกรรม

“ธนกร” ลั่น ไม่รวม ม.112 ในร่างนิรโทษกรรม เหตุไม่ใช่แรงจูงใจการเมือง เป็นความมั่นคงของประเทศ ย้ำ คำตัดสินศาลรธน. ยุบก้าวไกล ชี้ชัดไว้แล้ว

OKJ เซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายหุ้น IPO 6.70 บาทต่อหุ้น

OKJ เซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ พร้อมประกาศราคาขายหุ้น IPO 6.70 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ 23 – 25 ก.ย. 67 นี้

”จุรินทร์“ ชี้ รธน.แก้ได้ แต่ไม่ควรแก้เพื่อตัวเอง

”จุรินทร์“ ชี้ รธน.แก้ได้ แต่ไม่ควรแก้เพื่อตัวเอง และต้องไม่ทำลายหลักการส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง

ธ.ก.ส. เปิดตัวบัตรเดบิต 3 สไตล์ 

ธ.ก.ส. เปิดตัวบัตรเดบิต 3 สไตล์ มอบความคุ้มค่าคุ้มครองคุณ สูงสุดถึง 1 ล้านบาท ครบจบในบัตรเดียว

Notice: ob_end_flush(): Failed to send buffer of zlib output compression (0) in /home/ozapeumy/public_html/wp-includes/functions.php on line 5427