นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์บสย. ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “TCG Fast-Forward Sustainable Credit Guarantee” เชื่อมการบริการใหม่ เข้าถึง SMEs มากขึ้น ตามเป้าหมาย SME Digital Gateway วางกลยุทธ์ 3 ช่วย “ช่วย..ค้ำ ช่วย..ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วย..แก้หนี้” เสริมแกร่ง SMEs พัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ดังนี้
1 ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อ 115,600 ล้านบาท สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งเป็น ยุทธศาสตร์บสย. ที่สำคัญ
2 ขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่การเป็น Credit Mediator และ SMEs Digital Gateway เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ครบวงจร พัฒนา Digital Platform และเพิ่มมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน คือ “มาตรการปลอดดอกเบี้ย”
นายสิทธิกร กล่าวว่า ปี 2566 บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ 114,025 ล้านบาท ค้ำเฉลี่ยต่อราย 2.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ กรุงเทพ -ปริมณฑล 45% และภูมิภาค 55% ขณะที่การค้ำประกันสินเชื่อโครงการ SMEs เพื่อความยั่งยืน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญจาก 27% ในปี 2565 เป็น 29%
ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับโดดเด่นในปี 2566 ได้แก่ 1. ภาคบริการ 30% 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 10% 3. ภาคเกษตรกรรม 10% 4. ภาคอาหารและเครื่องดื่ม 9% และ 5. สินค้าอุปโภค-บริโภค 8%
โดย 3 ลำดับแรก 1. ภาคบริการ 2. ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ และ 3. ภาคเกษตรกรรม ครองสัดส่วนค้ำประกันถึง 50% ของพอร์ตวงเงินค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมด