ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic systemically important banks: D-SIBs) ให้มีความมั่นคงและมีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากการดำเนินการได้มากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้กำหนดแนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ โดยมีกรอบการชี้วัด 4 ด้าน คือ ขนาด ความเชื่อมโยง การทดแทนกันได้และโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน และความซับซ้อน และกำหนดให้มีการทบทวนแนวทางดังกล่าวเป็นประจำทุก 3 ปี นั้น
ธปท. ได้ปรับปรุงแนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ โดยเพิ่มปัจจัยพิจารณาภายใต้กรอบการชี้วัดเดิม เช่น
1 ด้านความเชื่อมโยงทางอ้อมระหว่างธนาคารพาณิชย์ผ่านการให้สินเชื่อหรือลงทุนกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน (systemically important corporation) รายเดียวกัน และ
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน (systemically important corporation: SiCorp) หมายถึง (1) กลุ่มธุรกิจที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ซึ่งมีมูลค่าสูงเทียบกับระบบการเงินโดยรวม หรือ (2) กลุ่มธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ซึ่งมีมูลค่าสูงเทียบกับระบบการเงินโดยรวม
2 ด้านการทดแทนกันได้ โดยพิจารณาถึงการเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และระดับความสำคัญในการให้บริการทางการเงินพื้นฐานผ่าน mobile banking ซึ่งหากบริการดังกล่าวหยุดชะงักจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย
ทั้งนี้ การปรับแนวทางการประเมินครั้งนี้ เพื่อให้สามารถสะท้อนถึงความสำคัญต่อระบบได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงิน (financial landscape) ในระยะข้างหน้า และความสำคัญของการทำธุรกรรมดิจิทัลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งความสำคัญเชิงระบบในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยแนวทางการประเมินใหม่จะเริ่มใช้สำหรับการประเมิน D-SIBs ประจำปี 2567 เป็นต้นไป
ตรวจรายชื่อ 6 ธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับการคัดเลือกอยู่กลุ่มพิเศษที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ
โดยปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการคัดเลือก อยู่กลุ่มพิเศษนี้ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต และ ธนาคารไทยพาณิชย์
โดยเกณฑ์คัดเลือก ดังกล่าวเดิม กำหนดไว้ 4 ข้อสำคัญ ได้แก่
1 มีขนาดของธนาคารด้านต่างๆ ที่ใหญ่
2 มีการทำธุรกรรมที่ซับซ้อน
3 มีการทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ใครทำทดแทนได้
4 มีการทำธุรกรรมเชื่อมกับอุตสหากรรมอื่น
ส่วนเงื่อนไขที่ประกาศเพิ่ม ล่าสุด มีอีก 2 ข้อที่สำคัญ ได้แก่
1 มีความเชื่อมโยงกับธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่
2 มีการทำธุรกรรมโมบายแบงก์กิ้งที่ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ